เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2311
วันที่: 18 เมษายน 2554
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรางวัลตอบแทนพนักงานและพนักงานรับเหมาจ้าง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1) มาตรา 50(1) และมาตรา 65(19) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ได้มีนโยบายจ่ายเงินรางวัลตอบแทนประจำปี 2553 เพื่อกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ลดงานเสียจากการผลิต และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กำหนดไว้ว่า สวัสดิการที่จัดให้กับพนักงานของบริษัทฯ จะต้องจัดให้กับพนักงานรับเหมาแรงงานด้วย ดังนั้น จึงกำหนดให้ทุกคนที่ปฏิบัติงานในบริษัทฯ มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนโดยจ่ายเงินให้กับพนักงานรับเหมาแรงงานโดยไม่ผ่านบริษัทรับเหมาแรงงานคู่สัญญา เนื่องจาก บริษัทฯ ต้องการที่จะจูงใจให้พนักงานรับเหมาแรงงานนั้นมีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานร่วมกับบริษัทฯ นานๆ เพื่อลดปัญหาการลาออก และเข้าใหม่ของพนักงานซึ่งมีผลเสียต่อกระบวนการผลิต และให้พนักงานรับเหมาแรงงานมีสวัสดิการเหมือนหรือใกล้เคียงกับพนักงานประจำของบริษัทฯ ด้วย ดังนั้น พนักงานและพนักงานรับเหมาแรงงานในบริษัทฯ หากอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนด มีสิทธิที่จะได้รับเงินรางวัลดังกล่าว โดยมีการจ่ายเป็นเงินสดให้กับทุกคน เงินรางวัลจะคำนวณโดยอิงกับผลกำไรขาดทุนทุกสามเดือนมาเป็นฐานการคำนวณรางวัลให้กับพนักงานในอัตราร้อยละ 3 จากฐานกำไรก่อนหักภาษีเงินได้นิติบุคคลของผลดำเนินงานทุกไตรมาส (3 เดือน) แต่ถ้าในไตรมาสใด บริษัทฯ ประสบผลขาดทุน ก็จะไม่มีการจ่ายเงินตอบแทนดังกล่าว จึงขอทราบว่า
          1. การจ่ายเงินจูงใจเพื่อเป็นสวัสดิการของพนักงานบริษัทฯ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้หรือไม่
          2. เงินรางวัลที่จ่ายให้แก่พนักงานรับเหมาแรงงาน บริษัทฯ ได้จ่ายเป็นเงินสดให้แก่พนักงานโดยตรง โดยไม่ได้ผ่านบริษัทรับเหมาแรงงาน ถือเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. เงินรางวัลที่จ่ายให้แก่พนักงานในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเป็นรายบุคคล เงินรางวัลที่ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40(1)แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำเงินรางวัลดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีที่ได้รับและบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
          2 ตามข้อเท็จจริงหากปรากฏว่า เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว บริษัทฯ มีผลกำไรและการจ่ายเงินรางวัลของบริษัทฯ เป็นการกำหนดจ่ายโดยอิงกับผลกำไรทุกไตรมาสมาเป็นฐานในการคำนวณเงินรางวัล ดังนั้น แม้การกำหนดรายจ่ายเงินรางวัลของบริษัทฯ จะมิได้กำหนดจากกำไรสุทธิเมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี แต่เป็นที่เห็นได้ว่ากำหนดจากผลกำไรเป็นฐานในการกำหนดการจ่ายเงินรางวัลของบริษัทฯ อีกทั้ง หากไม่มีผลกำไรบริษัทฯ จะไม่จ่ายเงินรางวัล จึงเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำรายจ่ายดังกล่าวมาคำนวณกำไรสุทธิได้
เลขตู้: 74/37705

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020