เลขที่หนังสือ | : กค 0702/3879 |
วันที่ | : 30 พฤษภาคม 2554 |
เรื่อง | : อากรแสตมป์ กรณีวิธีการคำนวณอากรเพื่อสลักหลังตราสาร |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | สำนักงานฯ มีภารกิจที่ต้องตรวจสอบสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งการตรวจสอบการชำระอากรเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องตรวจสอบว่า คู่สัญญาของทางราชการมีการชำระอากรหรือไม่ ชำระอากรครบถ้วนหรือไม่ เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปโดยถูกต้องตามประมวลรัษฎากร กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน จึงขอทราบว่า
1. กรณีสัญญาจ้างขนส่งสินค้า สัญญาจ้างดำเนินการก่อสร้าง สัญญาจ้างที่ปรึกษา และสัญญาจ้างดำเนินการประชาสัมพันธ์ จำนวน 4 สัญญา มีการแยกประเภทการคำนวณหรือไม่ อย่างไร และมีวิธีการคำนวณอากรเพื่อสลักหลังตราสารอย่างไร การคำนวณต้องรวมหรือแยกภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนหรือไม่ 2. กรณีตาม 1. มีระเบียบ หลักเกณฑ์หรือประกาศที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | 1. กรณีประเภทสัญญาจำนวน 4 สัญญา ดังกล่าว เป็นสัญญาซึ่งมีลักษณะเป็นการรับจ้างหรือรับทำงานให้โดยมุ่งผลสำเร็จของงาน เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ 1 บาท ต่อจำนวนเงินตามสัญญา 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างทำของโดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ แต่หากฝ่ายที่ต้องเสียอากรเป็นรัฐบาล เจ้าพนักงานผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ บุคคลผู้กระทำการในนามรัฐบาล องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และไม่เข้าลักษณะเป็นองค์การของรัฐบาลที่ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบการพาณิชย์ หรือการพาณิชย์ซึ่งองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรแสตมป์สำหรับสัญญาจ้างทำของนั้น ตามมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีสัญญาจ้างทำของซึ่งผู้ว่าจ้างเป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และมีสินจ้างตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) กฎหมายกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ตามข้อ 2 (3) และข้อ 3 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 |
เลขตู้ | : 73/37728 |