เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/4112
วันที่: 3 มิถุนายน 2554
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81/3(1) และมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ ยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2550 ระบุประเภทกิจการ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทฯ มีเจตนาจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะกิจการส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากบริษัทฯ เข้าใจผิด จึงได้ระบุประเภทกิจการโดยรวมถึงการผลิตและจำหน่ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในประเทศ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ไว้ด้วย
          2. เมื่อบริษัทฯ พบว่า การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับประเภทกิจการ จึงได้ยื่นแบบคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2551 เพื่อขอเปลี่ยนแปลงประเภทกิจการ เป็นการผลิตและจำหน่ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมทั้งพืชผลและผลผลิตทางการเกษตรเพื่อการส่งออกเพียงอย่างเดียว โดยบริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551
          3. บริษัทฯ เริ่มก่อสร้างอาคารโรงงานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 ก่อสร้างเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 และผลิตสินค้าขายภายในประเทศเมื่อเดือนกันยายน 2551 รวมกับสินค้าที่ซื้อมาเพื่อขายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในปี 2550 เกิดจากการก่อสร้างและซื้อเครื่องจักรบางส่วน ภาษีซื้อในปี 2551 เกิดจากการซื้อเครื่องมือ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ค่าก่อสร้างโรงอาหารและบ้านพักคนงาน รวมทั้งอุปกรณ์สำนักงานและเครื่องมือเครื่องใช้ในโรงงาน
          4. จากการตรวจสอบการยื่นแบบ ภ.พ.30 ของบริษัทฯ ปรากฏว่า เดือนภาษีเมษายน 2550 ถึงเดือนภาษีมกราคม 2551 บริษัทฯ ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้คืนจำนวนทั้งสิ้น 1,451,802.73 บาท สำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2551 ถึง เดือนภาษีสิงหาคม 2551 จำนวน 3,037,500.13 บาท บริษัทฯ ขอพักการคืนไว้ชั่วคราว และตั้งแต่เดือนภาษีกันยายน 2551 จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ มิได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
          บริษัทฯ มีสิทธิที่จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอพักการคืนไว้ รวมทั้งภาษีซื้อในเดือนภาษีอื่นๆ ที่ยังมิได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 ไว้ ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนประเภทกิจการผลิตและจำหน่ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2550 โดยบริษัทฯ มีเจตนาจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะกิจการส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากบริษัทฯ สำคัญผิด จึงได้ระบุประเภทกิจการโดยรวมถึงการผลิตและจำหน่ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในประเทศ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ด้วย และมิได้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอใช้สิทธิจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการดังกล่าว ตามมาตรา 81/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนทะเบียนออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะประเภทกิจการผลิตและจำหน่ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในประเทศได้ เมื่อต่อมาบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.09 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2551 โดยเปลี่ยนประเภทกิจการจาก "ผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ" เป็น "ผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์เพื่อการส่งออก" และได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงประเภทการประกอบกิจการเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 บริษัทฯ จึงเป็นผู้ประกอบกิจการ ทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2550 เป็นต้นมา ดังนั้น บริษัทฯ ต้องปฏิบัติในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
          1. กรณีภาษีซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต ระบบน้ำประปา ไฟฟ้า นอกเหนือจากการก่อสร้างอาคาร ซึ่งเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการนำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของบริษัทฯ ไปใช้หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ถ้าไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่า ภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือบริการดังกล่าว เป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด ให้บริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการ และให้นำภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของกิจการที่ต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขาย ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 และข้อ 7 ของประกาศอธิบดี กรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
          2. กรณีภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร โดยบริษัทฯ นำอาคารดังกล่าวไปใช้ในกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับภาษีซื้อดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องทำการเฉลี่ยตามส่วนของประมาณการการใช้พื้นที่อาคารดังกล่าว และหากบริษัทฯ ได้ใช้พื้นที่อาคารไม่ตรงตามที่ได้ประมาณการไว้เป็นครั้งแรกในเดือนภาษีใด อันเป็นเหตุให้ภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้เปลี่ยนแปลงไป ให้บริษัทฯ คำนวณภาษีซื้อที่หักได้จริงตามส่วน ของการใช้พื้นที่อาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเองซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้ปรับปรุงภาษีซื้อที่ได้นำมาหักออกจากภาษีขายแล้ว โดยให้ปรับปรุงตั้งแต่เดือนภาษีแรกที่มีภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารเกิดขึ้นถึงเดือนภาษีก่อนเดือนภาษีที่ได้ใช้พื้นที่อาคารดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 5 ของ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
เลขตู้: 73/37728

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020