เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/4693
วันที่: 24 มิถุนายน 2554
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีประกอบกิจการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยสำคัญผิด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81/3(1) และมาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          กรณีบริษัทฯ ขอยกเลิกการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการประกอบกิจการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรย้อนหลัง โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
          1. บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจำหน่าย พืชผัก ผลไม้ทุกชนิด และอุปกรณ์การเกษตรทุกชนิดพร้อมติดตั้ง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01 ทางอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552 ประกอบกิจการ ขายส่ง ขายปลีก พืชผัก ผลไม้ทุกประเภท และอุปกรณ์การเกษตรทุกชนิดพร้อมติดตั้ง เพราะเข้าใจว่า ต้องระบุรายละเอียดทั้งหมดของการประกอบกิจการ ต่อมาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า จะยกเลิกการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01 ที่ยื่นทางอินเทอร์เน็ต และให้จดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01 และยื่นคำขอแจ้งขอใช้สิทธิเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01.1 ด้วยกระดาษ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และได้รับแจ้งว่า การจำหน่ายพืชผัก ผลไม้ ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะเป็นสินค้าที่ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องยื่นคำขอแจ้ง ขอใช้สิทธิฯ ภ.พ.01.1 บริษัทฯ ได้จดทะเบียนแบบ ภ.พ.01 และยื่นคำขอแจ้งขอใช้สิทธิฯ ภ.พ.01.1 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2552
          2. บริษัทฯ จำหน่ายผลไม้ ผักสด ให้กับ ก. และได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30 ทุกเดือน โดยแสดงยอดขายผลไม้ ผักสด เป็นยอดขายที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บางเดือนแสดงยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0 โดยสำคัญผิด มาตลอด บริษัทฯ ไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ และภาษีซื้อที่เกี่ยวเนื่องจากการขายผัก ผลไม้ บริษัทฯ ไม่ได้นำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาบริษัทฯ ได้จำหน่าย อุปกรณ์การเกษตรและมีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยแยกรายได้จากการขายผลไม้ เป็นยอดขายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและรายได้จำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรเป็นยอดขายเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการขายส่ง ขายปลีก พืชผัก และผลไม้ทุกประเภท ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01 ระบุประเภทกิจการซึ่งได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นคำขอแจ้งขอใช้สิทธิฯ ภ.พ.01.1 ระบุกิจการขายพืชผลทางการเกษตร ตามมาตรา 81(1)(ก) แห่ง ประมวลรัษฎากร เป็นกิจการประเภทที่ประสงค์ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยสำคัญผิดว่า ตนเองต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่มีเจตนาจะเข้าสู่ระบบโดยการใช้สิทธิแจ้งต่ออธิบดี เพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ต้องการจดทะเบียนเฉพาะการขายส่ง ขายปลีก อุปกรณ์การเกษตรทุกชนิด พร้อมติดตั้ง จึงอนุมัติให้บริษัทฯ ไปขอยกเลิกเพิ่มในส่วนของการประกอบกิจการขายส่ง ขายปลีก พืชผัก และผลไม้ทุกประเภท พร้อมกับแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ชัดเจนว่า เป็นกิจการขายส่ง ขายปลีก อุปกรณ์การเกษตรทุกชนิดพร้อมติดตั้ง และให้ถือว่า บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่ วันที่ระบุไว้ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มคือวันที่ 20 มีนาคม 2552
          2. กรณีบริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยสำคัญผิด ไม่มีสถานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน สำหรับกิจการ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมาตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการและบริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ไว้ไม่ ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด โดยไม่มีภาษีขายและภาษีซื้อ และการคำนวณภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษี ไม่มีภาษีขายที่ชำระขาด หรือภาษีซื้อที่ชำระเกินไป แต่เนื่องจากเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30 ในกิจการซึ่งได้รับยกเว้นภาษี มูลค่าเพิ่มโดยสำคัญผิด มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี และได้รับอนุมัติให้ถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในกิจการดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบกิจการดังกล่าว จึงไม่ต้องรับผิดชำระภาษีเพิ่มเติม เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 มาตรา 89 มาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3 ถึง 6 และข้อ 20 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.81/2542 เรื่อง การคำนวณ เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2542
เลขตู้: 74/37762

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020