เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/5983
วันที่: 10 สิงหาคม 2554
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อห้องชุดในอาคารชุด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47(1)(ซ) ข้อ 2(4) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) และข้อ 2(53) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ
ข้อหารือ          กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อห้องชุดในอาคารชุด โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
          1. นาย ก ได้กู้เงินจาก ธปท. เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ จำนวน 2 ครั้ง ดังนี้
               1.1 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2544 นาย ก ได้ทำสัญญากู้เงินจาก ธปท. จำนวน 1,600,000 บาท เพื่อ ซื้อห้องชุดในอาคารชุด โดย นาย ก ได้นำห้องชุดดังกล่าวมาจำนองเป็นหลักประกันการกู้เงิน ตามหนังสือสัญญากู้เงินตาม ข้อบังคับธนาคารฯ
               1.2 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 นาย ก ได้ทำสัญญากู้เงินจาก ธปท. จำนวน 4,100,000 บาท เพื่อซื้อที่ดินพร้อมบ้านแห่งใหม่ โดย นาย ก ได้นำที่ดินตามโฉนด อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ - ไร่ - งาน 63.7 ตารางวา รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่และจะมีขึ้นภายหลังจำนองมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน ตามหนังสือสัญญากู้เงิน
          2. ต่อมา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 นาย ก ได้ขายห้องชุดในอาคารชุดตามข้อ 1.1 ให้แก่บุคคลอื่น แต่นาย ก มิได้นำเงินที่ได้รับจากการขายห้องชุดดังกล่าวมาชำระหนี้ให้แก่ ธปท. ทำให้ นาย ก ยังคงมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ ธปท.
          จึงหารือว่า นาย ก มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อห้องชุดในอาคารชุด โดยนาย ก ได้ขายห้องชุดดังกล่าวให้บุคคลอื่นไปแล้ว ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงิน เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2(53) แห่ง กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 ได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย          กรณีที่นาย ก ได้ทำสัญญากู้เงินจาก ธปท. เพื่อซื้อห้องชุดในอาคารชุด โดยได้จำนองห้องชุดในอาคารชุดเป็นประกัน การกู้ยืมเงิน และต่อมานาย ก ได้ขายห้องชุดดังกล่าวให้บุคคลอื่น โดย นาย ก มิได้นำเงินที่ได้รับจากการขายห้องชุดนั้นมาชำระหนี้ให้แก่ ธปท. ทำให้นาย ก ยังคงมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่ ธปท. ต่อไปนั้น เนื่องจากในปีถัดจากปีที่ ขายอาคารชุดดังกล่าวเป็นต้นไป นาย ก มิได้ใช้ห้องชุดในอาคารชุดดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอหักลดหย่อนหรือได้รับ ยกเว้นภาษี นาย ก ไม่มีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับการกู้ยืมเพื่อซื้อห้องชุดในอาคารชุดดังกล่าวตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และไม่ได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก ตาม ข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ประกอบกับข้อ 2(4) ของ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166)ฯ ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551
เลขตู้: 74/37833

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020