เว็บไซต์กรมสรรพากรใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเว็บไซต์ อ่านนโยบายเพิ่มเติมที่ นโยบายคุกกี้  

กฎกระทรวง
ฉบับที่ 286 (พ.ศ. 2554)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
------------------------------------

                               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

                               ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของ (21) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 249 (พ.ศ. 2548) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
                               “ผู้มีเงินได้ต้องถือกรรมสิทธิ์หรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ก่อนวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553 โดยพันธบัตรหรือหุ้นกู้ดังกล่าวต้องออกจำหน่ายก่อนวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ทั้งนี้ ในกรณีที่การโอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรหรือหุ้นกู้มิได้มีการแจ้งต่อนายทะเบียนต้องมีหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์เป็นหนังสือซึ่งระบุวันที่โอนกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้นไว้โดยชัดแจ้ง”

                               ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ให้ไว้ ณ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลได้มีนโยบายยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อส่งเสริมตลาดพันธบัตรเอเชียแก่ บุคคลธรรมดา ซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย แต่เพื่อเป็นการชะลอเงินทุนที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทย ที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

                               (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 128 ตอนที่ 89 ก วันที่ 13 ธันวาคม 2554)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022