เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 211)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่าย
เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักร
ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน
-----------------------------------------

                                 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓๒) พ.ศ. 2554 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ดังต่อไปนี้

                                 ข้อ 1 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องซื้อทรัพย์สินประเภทวัสดุ อุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกำหนด และรับรองว่า เป็นวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน โดยเป็นค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปจริงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 และต้องมีหลักฐานการจ่ายค่าซื้อทรัพย์สินดังกล่าวผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดทำรายงานแสดงรายละเอียดการซื้อวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้และเก็บรักษารายงานดังกล่าวรวมทั้งเอกสารประกอบการลงรายการในรายงานไว้ ณ สถานประกอบการ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

                                 ข้อ 2 กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดานำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว

                                 ข้อ 3 กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้ว แต่ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 532) พ.ศ. 2554 และตามข้อ 1 และข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับนี้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ดังกล่าว ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และต้องนำเงินได้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้ว รวมเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นั้นได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้เพิ่มเติมสำหรับปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ด้วย

ประกาศ ณ วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. 255๕

สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร



เอกสารแนบ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022