เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8342
วันที่: 12 ตุลาคม 2554
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากการชิงโชค
ข้อกฎหมาย: มาตรา 27 ตรี มาตรา 56 และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ          1. นางสาว ก. ได้รับรางวัลจากการชิงโชคตามโครงการส่งเสริมการขายของศูนย์การค้า จำนวน 1 ห้อง มูลค่า 6,600,000.00 บาท บริษัท A ได้มีหนังสือแจ้งให้นางสาว ก. ไปติดต่อรับรางวัลและจ่ายภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 330,000.00 บาท โดยแจ้งว่า เมื่อได้ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแล้ว บริษัท A จะแจ้งให้บริษัทฯ B เจ้าของโครงการอาคารชุด ค. ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการส่งเสริมการขายของศูนย์การค้าสยามฯ ทำสัญญามอบรางวัลกับนางสาว ก. ต่อไป
          2. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553 นางสาว ก. ได้ติดต่อขอรับรางวัลจากบริษัท Aโดยนางสาว ก. ได้รับใบเสร็จรับเงินแสดงว่า ได้รับเงินจากบริษัท A จำนวน 6,600,000.00 บาท ตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 8 กันยายน 2553 แต่ไม่ได้รับเงินรางวัลจริงและได้ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้แก่บริษัท A จำนวน 330,000.00 บาท ตามหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของบริษัท A ลงวันที่ 9 กันยายน 2553
          3. ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 บริษัท B ได้ทำสัญญามอบกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการอาคารชุด ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ให้นางสาว ก. โดยตามสัญญาระบุว่า บริษัท B จะทำการก่อสร้างและดำเนินการจดทะเบียนอาคารชุดเพื่อออกหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2554 นางสาว ก. เห็นว่า ตนเองยังไม่มีเงินได้จากการชิงโชคในปี 2553 เพราะยังไม่ได้รับเงินรางวัลจริง หรือยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดซึ่งเป็นรางวัลจากการชิงโชค เพราะยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและยังไม่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ การที่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในปี 2553 จำนวน 330,000.00 บาทและต้องนำมูลค่าของรางวัลจากการชิงโชค จำนวน 6,600,000.00 บาท ไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2553 เป็นการไม่ถูกต้อง ต่อเมื่อได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดแล้ว จึงถือว่า มีเงินได้จากการชิงโชคแล้ว จึงนำเงินได้นั้นไปคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุด จึงขอทราบว่า ความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีนางสาว ก. ได้รับรางวัลอาคารชุด จากการชิงโชคตามโครงการของศูนย์การค้าสยามฯ จากบริษัท A โดยได้ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้แก่บริษัท A จำนวน 330,000.00 บาท พร้อมลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินแสดงว่า ได้รับเงินจากบริษัท A จำนวน 6,600,000.00 บาท เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553 โดยที่นางสาว ก. ยังมิได้รับรางวัลแต่อย่างใด เนื่องจากรางวัลที่เป็นอาคารชุดอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีสัญญาระบุว่า บริษัท B ตกลงมอบกรรมสิทธิ์ห้องชุดและจะทำการก่อสร้างและดำเนินการจดทะเบียนอาคารชุด เพื่อออกหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2554 จากกรณีดังกล่าว บริษัท A ในฐานะผู้จ่ายเงินได้ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายรางวัลให้แก่นางสาว ก. ดังนั้น เมื่อบริษัท B เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการอาคารชุด ผู้สนับสนุนโครงการส่งเสริมการขายของศูนย์การค้าสยามฯ ยังมิได้โอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุด ซึ่งเป็นรางวัลจากการชิงโชคให้แก่นางสาว ก. บริษัทAจึงไม่มีสิทธิหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด สำหรับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่นางสาว ก. ได้ชำระไปเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ต้องเสียหรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียนั้น นางสาว ก. มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภายในเวลา 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัท A จ่ายเงินรางวัลโดยโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดดังกล่าวให้แก่นางสาว ก. บริษัท A มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 9(1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และนางสาว ก. ต้องนำเงินรางวัลจากการชิงโชคดังกล่าว ไปรวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษีที่ได้รับรางวัลนั้น ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 74/37889

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020