เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/9961
วันที่: 14 ธันวาคม 2554
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายและโอนหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว
ข้อกฎหมาย: กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2(66)(67) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          ธนาคารฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการ ขายและโอนหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
          1. นาย อ. (ลูกค้า) ได้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ระยะยาว (LTF) จำนวน 3 กองทุน ดังนี้
               1. ปี 2549 SCBL T2 จำนวน 17,394,1523 หน่วย
               2. ปี 2550 SCBL T2 จำนวน 18,967..5602 หน่วย
               3. ปี 2551 SCBL T2 จำนวน 24,108.2958 หน่วย
          2. เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 ลูกค้าแจ้งความประสงค์ ต่อธนาคารฯ ให้ทำการขายหน่วยลงทุนกองทุน SCBLT2 ปี 2549 ซึ่งถือครบ 5 ปีปฏิทินแล้ว และให้โอนหน่วยลงทุนกองทุน SCBLT2 ปี 2550 และปี 2551 ไปยังกองทุน SCBLTS แต่ธนาคารฯ ได้ทำรายการขายหน่วยลงทุน SCBLT2 ปี 2551 และโอนหน่วยลงทุน กองทุน SCBLT2 ปี 2549 และปี 2550 ไปยังกองทุน SCBLTS ซึ่งไม่เป็นไปตามความประสงค์ของลูกค้า เป็นเหตุให้ลูกค้าหมดสิทธิ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนปี 2551 ไปหักออกจากภาษีเงินได้ พร้อมเงิน เพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. ธนาคารฯ ได้หารือว่า หากธนาคารฯ ได้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของลูกค้าภายในปีภาษีที่เกิดความผิดพลาด ลูกค้าจะยังคงได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามความใน ข้อ 2(66) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีการซื้อหน่วยลงทุน LTF ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้อง รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF ผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุน LTF (ที่ซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2551 เป็นต้นไป) ผู้มีเงินได้จะต้องถือหน่วยลงทุน LTF ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน แต่ ไม่รวมถึงกรณีผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุน LTF เพราะทุพพลภาพหรือตาย ทั้งนี้ ตามข้อ 2(66) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169)ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551
          กรณีนาย อ. แจ้งความประสงค์ต่อธนาคารฯ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 ให้ทำการขายหน่วยลงทุนกองทุน SCBLT2 ปี 2549 ซึ่งถือครบ 5 ปีปฏิทินแล้ว และให้โอนหน่วยลงทุนกองทุน SCBLT2 ปี 2550 และปี 2551 ไปยังกองทุน SCBLTS แต่ธนาคารฯ ได้ทำรายการขายหน่วยลงทุน SCBLT2 ปี 2551 และโอน หน่วยลงทุนกองทุน SCBLT2 ปี 2549 และปี 2550 ไปยังกองทุน SCBLTS จึงเป็นเหตุทำให้การขายหน่วยลงทุน SCBLT2 ปี 2551 ซึ่งจะต้องถือหน่วยลงทุน LTF ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยว กับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169)ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เมื่อนาย อ. ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวและได้ใช้สิทธิยก เว้นภาษีเงินได้แล้ว และต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด จึงหมดสิทธิได้รับยก เว้นภาษีเงินได้และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วที่อยู่ใน ช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันทีได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้น ๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามความใน ข้อ 2(66) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ประกอบกับข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169)ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551
เลขตู้: 74/37948

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020