เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 219)
เรื่อง กำหนดวิธีการและเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่าย
เป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์
หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับอสังหาริมทรัพย์
ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย
__________________________________

����������������������

                อาศัยอำนาจตามความในข้อ 1 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 288 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดวิธีการและเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สิน ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย ดังต่อไปนี้

                ข้อ 1 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารหรือที่อยู่ในเขตอาคารหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับตัวอาคาร ในเขตอาคาร หรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นห้องชุดในอาคารชุดหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับห้องชุดในอาคารชุด แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินหนึ่งแสนบาท ให้เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไข ดังนี้
                (1) ทรัพย์สินที่ได้รับการซ่อมแซมต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร หรือที่อยู่ในเขตอาคาร หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับตัวอาคาร ในเขตอาคาร หรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นห้องชุดในอาคารชุด หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับห้องชุดในอาคารชุด ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 และอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย
                พื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยตามวรรคหนึ่ง หมายถึง พื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ทั้งนี้ กรณีในกรุงเทพมหานครเป็นไปตามประกาศของอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรณีในจังหวัดอื่นเป็นไปตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด
                (2) ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานที่แสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย หรือหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้เช่าอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย หรือหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยนั้นเป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการหรือใช้ประโยชน์อื่น แล้วแต่กรณี ดังนี้
                (ก) กรณีผู้มีเงินได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ได้แก่ หนังสือสัญญาซื้อขาย หนังสือขออนุญาต
ปลูกสร้างอาคาร หรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคาร หรือห้องชุดในอาคารชุด
                (ข) กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้เช่า ได้แก่ หนังสือสัญญาเช่า หรือหลักฐานอื่นที่แสดงได้ว่ามีการเช่า
                (ค) กรณีผู้มีเงินได้ได้ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการหรือใช้ประโยชน์อื่น ได้แก่ หลักฐานการรับรองจากเจ้าของทรัพย์สินว่าผู้มีเงินได้ได้ใช้อาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดเป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้ในการประกอบกิจการหรือใช้ประโยชน์อื่นใดโดยให้ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่าใช้ประโยชน์ใด
                (ง) กรณีผู้มีเงินได้มีสามีหรือภริยาอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดที่สามีภริยาได้มาระหว่างสมรสและเป็นสินสมรสซึ่งสามีภริยาต่างฝ่ายต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดโดยผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นสามีหรือภริยาไม่มีชื่อในเอกสารที่แสดงความเป็นเจ้าของในอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดนั้น หลักฐานที่แสดงได้ว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด ได้แก่ หลักฐานตาม (ก) ที่มีชื่อของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ประกอบกับใบทะเบียนสมรส
                (3) กรณีผู้มีเงินได้ตาม (2) เป็นผู้จ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินแห่งหนึ่งที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยตาม (1) ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท
                กรณีมีผู้มีเงินได้ตาม (2) จ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินแห่งหนึ่งที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยตาม (1) มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนซึ่งใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการจ่ายค่าซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้โดยให้เฉลี่ยการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วนของค่าซ่อมแซมและค่าวัสดุและค่าอุปกรณ์ในการซ่อมแซมที่ผู้มีเงินได้ซึ่งใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ได้จ่ายไปในการซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาท
                กรณีผู้มีเงินได้ตาม (2) จ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยตาม (1) มากกว่าหนึ่งแห่ง ให้ผู้มีเงินได้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นแต่ละแห่งตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี แต่เมื่อรวมทุกแห่งแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาท.
                (4) การจ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินแห่งหนึ่งตาม (3) หมายความว่า ผู้มีเงินได้ได้จ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร และอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในเขตอาคาร และทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับตัวอาคาร ในเขตอาคาร หรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร ซึ่งอยู่ในที่แห่งเดียวกันหรืออยู่ในบริเวณเดียวกัน เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่ประกอบติดตั้งติดอยู่กับอาคาร เครื่องสุขภัณฑ์ที่ติดตั้งติดอยู่ในอาคารหรือในเขตอาคาร ประตู หน้าต่าง รั้ว ประตูรั้ว สนามหญ้า สระว่ายน้ำ บ่อเลี้ยงปลา ระบบประปา เช่น แท็งก์น้ำ ปั๊มน้ำ ท่อน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย เช่น บ่อหรือถังบำบัดน้ำเสีย ระบบไฟฟ้า เช่น หลอดไฟฟ้า สายไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในที่แห่งเดียวกันหรืออยู่ในบริเวณเดียวกัน เป็นต้น หรือเป็นการจ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นห้องชุดในอาคารชุด และทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับห้องชุดในอาคารชุด ซึ่งอยู่ในที่แห่งเดียวกันหรืออยู่ในบริเวณเดียวกัน
                (5) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว โดยสามีหรือภริยาจ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยตาม (1) ที่สามีภริยาต่างฝ่ายต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ให้สามีหรือภริยาผู้มีเงินได้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าซ่อมแซมทรัพย์สินหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่สามีหรือภริยาได้จ่ายไปนั้นตามหลักเกณฑ์ตาม (2) (3) และ (4)
                (6) กรณีสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างเป็นผู้มีเงินได้ และต่างฝ่ายต่างจ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยตาม (1) ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ตาม (2) (3) และ (4)

                ข้อ 2 ผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 1 ต้องจัดทำแบบแสดงการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ โดยมีข้อความอย่างน้อยตามแบบแนบท้ายประกาศนี้และต้องมีเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้พร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้
                (1) เอกสารการจ่ายเงินค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่แสดงชื่อพร้อมที่อยู่และลายมือชื่อของผู้รับเงิน ชื่อของผู้จ่ายเงิน วัน เดือน ปี ที่จ่าย รายการที่จ่าย และจำนวนเงินที่จ่าย หรือหลักฐานอื่นที่พิสูจน์หรือแสดงได้ว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้จ่ายเงินค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น
                (2) เอกสารหลักฐานตาม ข้อ 1 (2) ผู้มีเงินได้จะยื่นแบบแสดงการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้และภาพถ่ายเอกสารตาม (1) และ (2) พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ได้

                ข้อ 3 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

                ข้อ 4 ผู้มีเงินได้ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีในปีที่ได้จ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินตามข้อ 1 โดยให้ใช้สิทธิได้ในปีภาษี 2554 และปีภาษี 2555 และหากผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าวทั้งสองปีภาษี ให้ได้รับยกเว้นตามที่ได้จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่รวมกันสองปีภาษีแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาท


ประกาศ ณ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร

 

เอกสารแนบ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022