เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 223)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้
สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
___________________

                     อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 292 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากลูกจ้างออกจากงานเพราะตาย ทุพพลภาพ หรือออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ หรือลูกจ้างออกจากงานกรณีอื่น แต่ได้คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ทั้งจำนวนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และต่อมาได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากลูกจ้างผู้นั้นตาย ทุพพลภาพ หรืออายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ดังต่อไปนี้

                     ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 188) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 202) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

                     ข้อ 2 ในประกาศนี้
                     “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
                     “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” หมายความว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

                     ข้อ 3 เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเนื่องจากลูกจ้างออกจากงานเพราะตาย ทุพพลภาพ หรือออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
                     (1) กรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะตาย ต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงการตาย
                     (2) กรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะทุพพลภาพต้องมีหลักฐานจากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าทุพพลภาพ                      
                     (3) กรณีลูกจ้างออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ต้องเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังนี้
                     (ก) กรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาโดยตลอด ต้องเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน ถ้าเป็นสมาชิกยังไม่ถึง 5 ปีต่อเนื่องกัน ต้องเป็นสมาชิกไปจนมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน หรือ
                     (ข) กรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเคยเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยได้โอนเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้คงไว้ทั้งจำนวนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว
                     การเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเมื่อรวมกับการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี
การเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตาม (ก) และ (ข) ถ้ามีการโอนเงินหรือผลประโยชน์ระหว่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้นับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่องกัน
                     ทั้งนี้ การรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

                     ข้อ 4 เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่มีสิทธิได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเนื่องจากลูกจ้างออกจากงานก่อนอายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่เมื่อออกจากงานแล้วได้คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ทั้งจำนวนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และต่อมาได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากลูกจ้างผู้นั้นตาย ทุพพลภาพ หรืออายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
                     (1) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากลูกจ้างผู้นั้นตาย ต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงการตาย
                     (2) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากลูกจ้างผู้นั้นทุพพลภาพต้องมีหลักฐานจากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าทุพพลภาพ
                     (3) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากลูกจ้างผู้นั้นอายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ต้องเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังนี้
                     (ก) กรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาโดยตลอด ต้องเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน ถ้าเป็นสมาชิกยังไม่ถึง 5 ปีต่อเนื่องกัน ต้องเป็นสมาชิกไปจนมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน หรือ
                     (ข) กรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเคยเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยได้โอนเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้คงไว้ทั้งจำนวนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วการเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเมื่อรวมกับการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี
                     การเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตาม (ก) และ (ข) ถ้ามีการโอนเงินหรือผลประโยชน์ระหว่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้นับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่องกัน
                     ทั้งนี้ การรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

                     ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป


ประกาศ ณ วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022