เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป.144/2555
เรื่อง การยกเว้นภาษีเงินได้และการเสียภาษีเงินได้ กรณีการขายสินค้ายาสูบ
ที่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ได้เสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้าดังกล่าวทุกทอด
ตามมาตรา 48 ทวิ และมาตรา 65 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร

-----------------------

                    เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้และการเสียภาษีเงินได้ สำหรับการขายสินค้ายาสูบที่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังได้เสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้าดังกล่าวทุกทอดตามมาตรา 48 ทวิ และมาตรา 65 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

                    ข้อ 1 ในกรณีโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ได้ขายสินค้ายาสูบให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ขายส่ง (ป.1) ผู้ขายส่งช่วง (ป.2) หรือผู้ขายปลีก (ป.3) โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้าดังกล่าวทอดหนึ่งทอดใดหรือทุกทอดที่ซื้อสินค้ายาสูบ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในอัตราร้อยละ 12.5 ของกำไรของผู้ขายส่งไม่ว่าทอดใด และในอัตราร้อยละ 10.0 ของกำไรของผู้ขายปลีก ภาษีที่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ได้เสียแทนตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้ของผู้ซื้อสินค้ายาสูบ เฉพาะกรณีที่ผู้ซื้อสินค้ายาสูบไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

                    ข้อ 2 คำว่า “กำไร” หมายความว่า ผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาซื้อสินค้าที่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังกำหนดไว้สำหรับผู้ขายส่งแต่ละทอดหรือผู้ขายปลีก แล้วแต่กรณี คูณด้วยปริมาณสินค้าที่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังขายให้ผู้ขายส่งทอดแรก ดังนั้น การคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีเงินได้ของผู้ขายส่ง ผู้ขายส่งช่วง และผู้ขายปลีก จึงต้องคำนวณจากฐานราคาขายส่ง ราคาขายส่งช่วง และราคาขายปลีกตามประกาศกำหนดราคาขายบุหรี่ซิกาแรตของโรงงานยาสูบ
                    ตัวอย่าง
                    (ก) ราคาขายส่งบุหรี่กรองทิพย์ไลทส์ตามประกาศของโรงงานยาสูบห่อละ 207.75 บาท และราคาที่ผู้ขายส่ง (ป.1) ซื้อจากโรงงานยาสูบห่อละ 205.50 บาท ดังนั้น ผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาซื้อสินค้าที่โรงงานยาสูบกำหนดไว้สำหรับผู้ขายส่งเท่ากับ 2.25 บาท (207.75 - 205.50) และโรงงานยาสูบมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายส่งในอัตราร้อยละ 12.5 ของกำไรของผู้ขาย เป็นจำนวน 0.28125 บาท
                    (ข) ราคาขายส่งช่วงบุหรี่กรองทิพย์ไลทส์ตามประกาศของโรงงานยาสูบห่อละ 210.00 บาท และราคาที่ผู้ขายส่งช่วง (ป.2) ซื้อจากโรงงานยาสูบห่อละ 207.75 บาท ดังนั้น ผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาซื้อสินค้าที่โรงงานยาสูบกำหนดไว้สำหรับผู้ขายส่งช่วงเท่ากับ 2.25 บาท (210.00 - 207.75) และโรงงานยาสูบมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายส่งช่วงในอัตราร้อยละ 12.5 ของกำไรของผู้ขายส่งช่วงเป็นจำนวน 0.28125 บาท
                    (ค) ราคาขายปลีกบุหรี่กรองทิพย์ไลทส์ตามประกาศของโรงงานยาสูบห่อละ 220.00 บาท และราคาที่ผู้ขายปลีก (ป.3) ซื้อจากโรงงานยาสูบห่อละ 210.00 บาท ดังนั้น ผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาซื้อสินค้าที่โรงงานยาสูบ กำหนดไว้สำหรับผู้ขายปลีกเท่ากับ 10.00 บาท (220.00 - 210.00) และโรงงานยาสูบมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายปลีกในอัตราร้อยละ 10.0 ของกำไรของผู้ขายปลีก เป็นจำนวน 1.00 บาท

                    ข้อ 3 กรณีผู้ขายส่ง ( ป.1) ผู้ขายส่งช่วง (ป.2) หรือผู้ขายปลีก (ป.3) ตามข้อ 1 เป็นบุคคลธรรมดา เงินได้พึงประเมินจากการขายสินค้ายาสูบจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(19) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยผู้ขายส่ง ( ป.1) ผู้ขายส่งช่วง (ป.2) หรือผู้ขายปลีก (ป.3) ดังกล่าวเมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายสินค้ายาสูบมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
                    ตัวอย่าง                    
                    นาย ก ประกอบกิจการเป็นผู้ขายส่งช่วงบุหรี่ (ป.2) ของโรงงานยาสูบ มีเงินได้พึงประเมินจากการขายส่งช่วงบุหรี่ในปีภาษี 2555 จำนวน 2,000,000 บาท ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(19) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.94 และ ภ.ง.ด.90) นาย ก ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายบุหรี่ครึ่งปีและทั้งปี (จำนวน 2,000,000 บาท)มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษี 2555

                    ข้อ 4 กรณีผู้ขายส่ง ( ป.1) ผู้ขายส่งช่วง (ป.2) หรือผู้ขายปลีก (ป.3) ตามข้อ 1 เป็นบุคคลธรรมดา มีเงินได้พึงประเมินจากการขายสินค้ายาสูบและมีเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เฉพาะเงินได้พึงประเมินจากการขายสินค้ายาสูบจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(19) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ดังนั้น ผู้ขายส่งช่วง (ป.2) หรือผู้ขายปลีก (ป.3) ดังกล่าวเมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ให้นำเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นๆ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายสินค้ายาสูบมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
                    ตัวอย่าง                    
                    นาย ก ประกอบกิจการเป็นผู้ขายส่งช่วงบุหรี่ (ป.2) ของโรงงานยาสูบ มีเงินได้พึงประเมินจากการขายส่งช่วงบุหรี่ในปีภาษี 2555 จำนวน 2,000,000 บาท และมีเงินได้พึงประเมินจากการขายของเบ็ดเตล็ดตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 3,000,000 บาท เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.94 และ ภ.ง.ด.90) นาย ก ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายของเบ็ดเตล็ดครึ่งปีและทั้งปี (จำนวน 3,000,000 บาท) มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายบุหรี่ครึ่งปีและทั้งปี (จำนวน 2,000,000 บาท) มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปีภาษี 2555

                    ข้อ 5 กรณีผู้ขายส่ง ( ป.1) ผู้ขายส่งช่วง (ป.2) หรือผู้ขายปลีก (ป.3) ตามข้อ 1 เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เงินได้พึงประเมินจากการขายสินค้ายาสูบไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายสินค้ายาสูบดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ขายสินค้ายาสูบนั้นตามเกณฑ์สิทธิ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น มีหลักฐานการเสียภาษีแทนผู้ขายสินค้ายาสูบเป็นบัญชีแสดงรายการภาษีเงินได้ชำระล่วงหน้า (บ.ช. 17) ที่โรงงานยาสูบออกให้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวมีสิทธินำภาษีที่โรงงานยาสูบเสียแทน มาถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ตามมาตรา 65 จัตวา วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
                    ตัวอย่าง
                    (ก) บริษัท ข จำกัด ประกอบกิจการเป็นผู้ขายส่งบุหรี่ (ป.1) ของโรงงานยาสูบ มีเงินได้พึงประเมินจากการขายส่งบุหรี่ตามเกณฑ์สิทธิ ในปีภาษี 2555 จำนวน 5,000,000 บาท และมีหลักฐานการเสียภาษีแทนผู้ขายส่งบุหรี่ เป็นบัญชีแสดงรายการภาษีเงินได้ชำระล่วงหน้า (บ.ช. 17) ที่โรงงานยาสูบออกให้ จำนวน 6,768.95 บาท บริษัท ข จำกัด ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายส่งบุหรี่จำนวน 5,000,000 บาท ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.51 และ ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และมีสิทธินำภาษีที่โรงงานยาสูบเสียแทนผู้ขายส่ง มาถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
                    (ข) บริษัท ข จำกัด ประกอบกิจการเป็นผู้ขายส่งช่วงบุหรี่ (ป.2) ของโรงงานยาสูบ มีเงินได้พึงประเมินจากการขายส่งช่วงบุหรี่ตามเกณฑ์สิทธิ ในปีภาษี 2555 จำนวน 5,000,000 บาท และไม่มีหลักฐานการเสียภาษีแทนผู้ขายส่งช่วงบุหรี่ (บ.ช. 17) ที่โรงงานยาสูบออกให้ บริษัท ข จำกัด ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายส่งช่วงบุหรี่จำนวน 5,000,000 บาท ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.51 และ ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีสิทธินำภาษีที่โรงงานยาสูบเสียแทนผู้ขายส่งช่วง มาถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่อย่างใด

                    ข้อ 6 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก

ประกาศ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022