เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 555)

พ.ศ. 2555
-----------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
เป็นปีที่ 67 ในรัชกาลปัจจุบัน

                  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

                  โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมการลดอัตราภาษีเงินได้ สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บางกรณี

                  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                  มาตรา 1 มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 555) พ.ศ. 2555”

                  มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

                  มาตรา 3ให้ยกเลิกความในมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                 “มาตรา 5 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตรา ดังต่อไปนี้
                 (1) ร้อยละยี่สิบสามของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555
                 (2) ร้อยละยี่สิบของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557”

                  มาตรา 4 ให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “(2) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้ (ก) ร้อยละยี่สิบสามของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

                  (ก) ร้อยละยี่สิบสามของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

                  (ข) ร้อยละยี่สิบของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
         นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เก็บจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้เหลืออัตราร้อยละยี่สิบสาม สำหรับหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 และเหลืออัตราร้อยละยี่สิบ สำหรับสองรอบระยะเวลาบัญชีถัดมาที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 เป็นจำนวนรวมสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยังไม่ครอบคลุมกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญชีเกินกว่าสามรอบระยะเวลาบัญชีในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การลดอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวเพื่อกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในปี พ.ศ. 2555 ถึงปี พ.ศ. 2557 ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามอัตราที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าโดยไม่คำนึงถึงจำนวนรอบระยะเวลาบัญชีและเพื่อให้การลดอัตราภาษีเงินได้ที่กำหนดไว้ในกรณีอื่นตามพระราชกฤษฎีกาสอดคล้องกับการปรับปรุงดังกล่าวสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การลดอัตราภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาทซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในคราวเดียวกันด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

                  (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 129 ตอนที่ 129 ก วันที่ 26 ธันวาคม 2555)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022