เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/10978
วันที่: 12 ธันวาคม 2555
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการขายทรัพย์สินที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการวางท่อเชื่อมอ่างเก็บน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ (2) มาตรา 65 ตรี มาตรา 77/1(8) มาตรา 77/2(1) มาตรา 77/3 มาตรา 78 มาตรา 79 มาตรา 82/4 มาตรา 86 มาตรา 91/2 (6) มาตรา 103 และมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการขายทรัพย์สินที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการวางท่อเชื่อมอ่างเก็บน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ราย บริษัทฯ โดยมีข้อเท็จจริง สรุปได้ดังนี้
          1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรี ให้ส่วนราชการจัดซื้อทรัพย์สินที่เกิดจากโครงการวางท่อเชื่อมจากอ่างเก็บน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นทรัพย์สินจากโครงการของบริษัทฯ
          2. ทรัพย์สินที่ได้จัดซื้อประกอบด้วย ท่อส่งน้ำฝังอยู่ใต้พื้นดินระยะทางยาว 72 กิโลเมตร เชื่อมโยงระหว่างอ่างเก็บน้ำกับอ่างเก็บน้ำสถานีสูบน้ำ 1 แห่งพร้อมอาคารมีหลังคาเพื่อติดตั้งเครื่องสูบน้ำสำหรับผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำ ท่อแยกจ่ายน้ำดิบเพื่อการอุปโภค-บริโภค จำนวน 8 แห่ง ระบบไฟฟ้า ระบบเครื่องกล สำหรับที่ดินตามแนวเขตท่อส่งน้ำพาดผ่าน ได้รับการบริจาคจากเอกชนเจ้าของที่ดิน อุทิศให้เป็นสาธารณประโยชน์
          3. ได้ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินในข้อ 2 ตามสัญญา มูลค่าตามสัญญาทั้งสิ้นจำนวน1,677,000,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และมีเงื่อนไขการส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมด ณ สถานที่ตั้งของทรัพย์สินภายใน 90 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา และหากส่งมอบเกินกำหนดระยะเวลาตามสัญญา บริษัทฯ จะต้องชำระค่าปรับล่าช้าให้กับกรมชลประทาน
          4. บริษัทฯ จึงขอหารือว่า
               4.1 การขายทรัพย์สินที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการวางท่อเชื่อมจากอ่างเก็บน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำ ตามสัญญาดังกล่าว ถือเป็นการขายทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือไม่
               4.2 บริษัทฯ มีภาระภาษีตามประมวลรัษฎากรในฐานะผู้ขายทรัพย์สินตามสัญญาการขายทรัพย์สินดังกล่าว อย่างไร
แนววินิจฉัย           1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ต้องนำรายได้จากการขายทรัพย์สินที่เกิดจากโครงการฯ มารวมคำนวณภาษีเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะรายได้ดังกล่าวเป็นรายได้ จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
          สำหรับรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ซึ่งต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ บริษัทฯ มีสิทธิในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเป็นไปตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตรา ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการขายทรัพย์สินต่างๆในโครงการฯ ให้กับกรมชลประทาน ในขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาของการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ไม่หมดมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สิน บริษัทฯ มีสิทธิตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวน ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ขายทรัพย์สินนั้นได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.58/2538 เรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีตัดมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินที่สูญหายหรือชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2538
          2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม การซื้อขายทรัพย์สินที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการฯ สามารถแยกพิจารณา ได้ดังต่อไปนี้
               2.1 ทรัพย์สินที่เป็นอาคารสถานีสูบน้ำและอาคารประกอบ ซึ่งติดอยู่กับที่ดินอันมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกันกับที่ดิน เข้าลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 139 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การซื้อขายอาคารสูบน้ำและอาคารประกอบ จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/3 แห่งประมวลรัษฎากร
               2.2 ทรัพย์สินที่เป็นท่อฝังอยู่ในพื้นดิน ระบบไฟฟ้า ระบบเครื่องกล รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบ หากเป็นทรัพย์โดยสภาพมิได้ติดตรึงตรากับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกันกับที่ดิน แม้บางส่วนจะวางใต้พื้นดินบ้างก็ตาม ก็ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน เข้าลักษณะเป็นสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 140 และมาตรา 146 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่กรมชลประทาน จึงเข้าลักษณะเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (8) และมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมชลประทาน เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่บริษัทฯ ได้รับมาคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร รวมทั้งมีหน้าที่ในการจัดทำใบกำกับภาษี และส่งมอบใบกำกับภาษีให้กรมชลประทาน ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับในส่วนค่าปรับจากความล่าช้านั้น มิใช่มูลค่าของฐานภาษีจากการขายสินค้าหรือการให้บริการตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
          3. กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะ หากการซื้อขายทรัพย์สินในส่วนที่เป็นที่ดินและอาคารสถานีสูบน้ำซึ่งก่อสร้างบนที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าว อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541
          4. กรณีอากรแสตมป์ สัญญาซื้อขายทรัพย์สินระหว่างบริษัทฯ กับกรมชลประทาน มิใช่ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ตามมาตรา 103 และ 104 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์แต่อย่างใด ส่วนใบรับจากการโอนขายอสังหาริมทรัพย์ถ้าเข้าข่าย ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ใบรับไม่ต้องเสียอากรแสตมป์
เลขตู้: 75/38397

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020