เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/11430
วันที่: 27 ธันวาคม 2555
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดหาแหล่งเงินกู้
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 เตรส มาตรา 40(2) มาตรา 66 วรรคสอง มาตรา 77/2 มาตรา 80 และ มาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารและสถาบันการเงินจำนวน 8 แห่ง เป็นเงิน 291.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำไปซื้อหุ้น บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาสินเชื่อซึ่งมีทั้งธนาคารไทยและธนาคารต่างประเทศเป็นผู้ให้กู้ โดยนำเงินฝากประเภทออมทรัพย์และ หุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน ในการกู้ยืมเงินดังกล่าว มี DH ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ในประเทศไทย เป็นตัวแทนจัดหาแหล่งเงินกู้ (Facility Agent) และ DT เป็นตัวแทนหลักประกัน (Security Agent) โดยทั้ง 2 สาขา มีหน้าที่ตามสัญญาดังกล่าว ดังนี้
          1. DH ตัวแทนจัดหาแหล่งเงินกู้ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ดูแลให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ของสัญญาสินเชื่อหรือสัญญากู้เงิน ได้แก่ การชำระดอกเบี้ย การชำระคืนเงินต้น การดำรงอัตราส่วนทางการเงิน การดำรงเงินสด การไม่ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นข้อห้ามตามสัญญากู้เงิน เป็นต้น จนกว่าจะสิ้นสุดสัญญากู้เงิน หรือจนกระทั่งบริษัทฯ ชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว โดย DH จะได้รับชำระค่าบริการจากบริษัทฯ ดังนี้
               (1) ค่าธรรมเนียมตัวแทนสินเชื่อจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐ โดยหักจากเงินกู้ที่บริษัทฯ ได้รับจากเจ้าหนี้
               (2) ค่าที่ปรึกษาด้านกฎหมายเพื่อการซื้อหุ้นจำนวน 500,000 เหรียญสหรัฐ โดยหักจากเงินกู้ที่บริษัทฯ ได้รับจากเจ้าหนี้
               (3) ร้อยละ 2.1 ของจำนวนเงินกู้ คิดเป็นจำนวนเงิน 6,113,100 เหรียญสหรัฐ โดยหักจากเงินกู้ที่บริษัทฯ ได้รับจากเจ้าหนี้
          2. DT ตัวแทนหลักประกัน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ในการจดจำนำและดูแลรักษาหลักประกันเงินกู้ที่บริษัทฯ กู้มาเพื่อซื้อหุ้น และเมื่อบริษัทฯ ชำระหนี้เงินกู้คืนแก่เจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว DT ต้องดำเนินการปลดหลักประกันดังกล่าวให้ด้วย ซึ่ง DT จะได้รับค่าธรรมเนียมจากบริษัทฯ จำนวน 8,000 เหรียญสหรัฐ โดยหักจากเงินกู้ที่บริษัทฯ ได้รับจากเจ้าหนี้
          ขอหารือว่า
          1. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าธรรมเนียมในการจัดหาแหล่งเงินกู้ ถือเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้กับ DH บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
          2. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการจัดหาแหล่งเงินกู้ ถือเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ซึ่งผู้จ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
แนววินิจฉัย           1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล DB ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดยมีสาขาอยู่ในประเทศไทยและเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งทั้ง DB DT DH มีฐานะตามกฎหมายเป็นนิติบุคคลเดียวกัน การที่ DH ให้บริการเป็นตัวแทนจัดหาแหล่งเงินกู้ (Facility Agent) และ DT ให้บริการเป็นตัวแทนหลักประกัน (Security Agent) ตามสัญญาสินเชื่อ แก่บริษัทฯ ในประเทศไทย ค่าบริการดังกล่าวจึงถือเป็นเงินได้หรือผลกำไรเนื่องจากการกระทำกิจการในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเงินได้หรือผลกำไรของ DT ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลเดียวกัน แม้ว่า DT จะมีการแบ่งแยกหน้าที่กันให้บริการแก่บริษัทฯ และบริษัทฯ แยกชำระค่าบริการก็ตาม แต่ทั้ง DT และ DH ก็ดำเนินกิจการประเภทเดียวกัน กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย จึงต้องนำค่าบริการดังกล่าวที่ได้รับจากบริษัทฯ มารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในกำไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในประเทศไทย ตามมาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยนำมารวมเป็นเงินได้ของ DT ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้ชำระค่าบริการดังกล่าว ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัทฯ จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3/1 ของ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
               2.1 กรณี DH ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ได้ให้บริการเป็นตัวแทนจัดหาแหล่งเงินกู้ทั้งในและนอกราชอาณาจักรให้กับบริษัทฯ อันเป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยแบบ ภ.พ.36 ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
               2.2 กรณี DT ให้บริการเป็นตัวแทนหลักประกันแก่บริษัทฯ ในประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ในการจดจำนำหุ้น UBC เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้และดูแลรักษาหลักประกันเงินกู้ รวมทั้งดำเนินการปลดหลักประกันดังกล่าวด้วย เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 75/38412

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020