เมนูปิด
Untitled Document

คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป. 233/2557
เรื่อง มอบอำนาจให้สรรพากรภาคสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร
-------------------------------

                                  เพื่อให้การอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนยื่นคำขอ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8 (1) วรรคสอง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2537 เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 และมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

                                  ข้อ 1 ให้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 227/2557 เรื่อง มอบอำนาจให้สรรพากรภาคสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557
                                  ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (8) ของข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.130/2546 เรื่อง มอบอำนาจให้สรรพากรภาคสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ลงวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2546 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                  “(8) การอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบการได้ประกอบกิจการโดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับผู้ประกอบการจดทะเบียน ดังต่อไปนี้ ก่อนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
                                            (ก) ผู้ประกอบการประกอบกิจการโดยสำคัญผิดว่าได้มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
                                            (ข) ผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการ ในการขายสินค้า หรือการให้บริการทุกครั้ง และจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
                                            (ค) ผู้ประกอบการจัดทำรายงานภาษีซื้อ และรายงานภาษีขาย
                                            (ง) ผู้ประกอบการได้ยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน กำหนดเวลาตามกฎหมาย ซึ่งคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มโดยวิธีภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร หรือผู้ประกอบการได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายโดยตนเอง ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน
                                            (จ) ในขณะที่มีการยื่นคำร้องขออนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการยังประกอบกิจการอยู่จนถึงในปัจจุบัน และ
                                            (ฉ) ผู้ประกอบการขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนยื่นคำขอ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีและนำส่งภาษีขายให้ถูกต้อง มิได้มีเจตนา ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ทั้งนี้ โดยพิจารณาในปีนั้นว่ามีภาษีขายที่ต้องชำระมากกว่าภาษีซื้อ
                                  ข้อ 3 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงในคำสั่งนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ประสงค์ พูนธเนศ
(นายประสงค์ พูนธเนศ)
อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022