เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/149
วันที่: 12 มกราคม 2558
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็นห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 1077(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อหารือ           1.นายว. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ สถานประกอบการ รับเหมาก่อสร้าง และจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง โดยนายว. ได้ให้ถ้อยคำชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นการซื้อขายสินค้า และวัสดุก่อสร้าง และส่งมอบเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชี
          2. กรมสรรพากร (เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์) ได้ฟ้องนายว. ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ (จำเลย) ให้รับผิดในหนี้ภาษีอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ จำนวน 1,143,926.85 บาท และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายว. ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ตามคดีหมายเลขแดง ซึ่งกรมสรรพากรได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 จำนวน 1,143,926.85 บาท
แนววินิจฉัย           ห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ เป็นหนี้ภาษีอากร จำนวน 1,143,926.85 บาท ซึ่งกรมสรรพากรได้เป็นโจทก์ฟ้องนายว. ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ ให้รับผิดในหนี้ภาษีอากรแต่เพียงผู้เดียวให้ล้มละลาย ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เนื่องจากนายว. เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ จึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ โดยไม่จำกัดจำนวน ตามมาตรา 1070 และมาตรา 1077(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายว. ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ตามคดีหมายเลขแดงที่ล.2896/2556 ห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ จึงยังไม่เลิกกัน ตามมาตรา 1055(5) ประกอบกับมาตรา 1080แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากคำว่า "ล้มละลาย" ตามมาตรา 1055(5) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีผลให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ เลิกกัน หมายถึง เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วการที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดคนใดคนหนึ่ง จึงยังถือไม่ได้ว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล้มละลาย อันเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ เลิกกัน ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายว. ย่อมไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวเป็นผู้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของนายว. ตามมาตรา 22(1) และมาตรา 24แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 แต่ตามข้อเท็จจริง ทีมกำกับดูแลฯ สท.ได้ตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็น กรณีสอบยันใบกำกับภาษีของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ ณ สถานประกอบการของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ กรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องการดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากนายว. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ ซึ่งถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจเข้าไปจัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ แม้นายว. จะมีสิทธิได้รับแบ่งคืนทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ ก็เป็นเรื่องที่มีมาภายหลังเพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ นั้นเท่านั้น ตามมาตรา 1269 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เหตุนี้จึงมิได้เกี่ยวข้องกับกองทรัพย์สินของนายว. ซึ่งถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายว. ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ จึงมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ โดยการให้ถ้อยคำและส่งมอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ ให้กับเจ้าพนักงานประเมินได้ตามมาตรา 1035 ประกอบกับมาตรา 1080 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เลขตู้: 78/39454

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020