เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2753
วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 5 วีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกา ข้อ 23(2) ภาษีซ้อนสาธารณรัฐประชาชนจีน
ข้อหารือ           1.กรณีบริษัทฯ ได้ลงทุนกับบริษัทในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (บริษัทในประเทศจีน) โดยถือหุ้นร้อยละ 18.24 ของจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด หากบริษัทในประเทศจีนจ่ายเงินปันผลประจำปี บริษัทฯ จะต้องนำเงินปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ อย่างไร
          2.กรณีบริษัทในประเทศจีนได้รับการส่งเสริมการลงทุน และได้จ่ายเงินปันผลประจำปีให้แก่บริษัทฯ ในฐานะผู้ถือหุ้น โดยบริษัทในประเทศจีนในฐานะผู้จ่ายเงิน ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา ร้อยละ 10 จากอัตราปรกติในอัตราร้อยละ 20 ของเงินปันผล บริษัทฯ จะสามารถนำจำนวนเงินภาษีที่ถูกหักดังกล่าวมาใช้เป็นเครดิตคืนในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยได้หรือไม่ หากสามารถเครดิตคืนได้ บริษัทฯ สามารถใช้เครดิตในอัตราร้อยละ 20 ของเงินปันผลใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย           1. กรณีบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งได้รับเงินได้ พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินปันผลที่ได้รับ ตามมาตรา 5 วีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 442) พ.ศ. 2548 บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดนั้นต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผล เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาจนถึงวันที่ได้รับเงินปันผล และเงินปันผลต้องมาจากกำไรสุทธิที่มีการเสียภาษีในประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผล โดยอัตราภาษีดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ไม่ว่าประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้จ่ายเงินปันผลจะมีกฎหมายลดหรือยกเว้นภาษีสำหรับกำไรสุทธิให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหรือไม่ก็ตาม จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ ได้รับเงินปันผลจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนในประเทศจีนโดยบริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัทในประเทศจีนผู้จ่ายเงินปันผลร้อยละ 18.24 ของจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด ถือว่าบริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัทในประเทศจีนผู้จ่ายเงินปันผลน้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทดังกล่าว บริษัทฯ จึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผลดังกล่าว บริษัทฯ ต้องนำเงินปันผลมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งจำนวน ทั้งนี้ ตามมาตรา 5 วีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว
          2. เนื่องจากความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษี เก็บจากเงินได้ (อนุสัญญาภาษีซ้อน) ข้อ 23 (2) ได้บัญญัติว่า "...ภาษีจีนที่ต้องชำระในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน จะยอมให้เป็นเครดิตต่อภาษีไทยที่ต้องชำระ สำหรับเงินได้จำนวนนั้น อย่างไรก็ตาม เครดิตนั้นจะต้องไม่เกินจำนวนภาษีไทย ในส่วนที่ได้คำนวณไว้ก่อนที่จะให้เครดิตตามจำนวนที่เหมาะสม กับรายการเงินได้นั้น..."ภาษีจีนที่ต้องชำระ" ให้ถือว่า รวมถึงจำนวนภาษีจีนซึ่งควรจะต้องชำระ ถ้าภาษีจีนนั้นมิได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนตามกฎหมายส่งเสริมพิเศษซึ่งมุ่งหมายที่จะส่งเสริมพัฒนาการทางเศรษฐกิจในประเทศจีน ที่มีผลใช้บังคับ ณ วันลงนามของความตกลงนี้..." ดังนั้น หากการที่เงินปันผลที่ได้จากบริษัทในประเทศจีนได้รับการลดอัตราภาษีจากอัตราปรกติร้อยละ 20 เป็นอัตราร้อยละ 10 นั้น เป็นผลมาจากการลดหย่อนตามกฎหมายส่งเสริมพิเศษซึ่งมุ่งหมายที่จะส่งเสริมพัฒนาการทางเศรษฐกิจในประเทศจีน บริษัทฯ มีสิทธินำจำนวนภาษีที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนตามกฎหมายดังกล่าว มาเครดิตภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย (tax Sparing Credit) โดยจำนวนภาษีของประเทศจีนที่พึงชำระนั้นต้องไม่เกินจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องชำระในประเทศไทยที่คำนวณจากฐานเงินได้ที่ได้รับจากประเทศจีนก่อนที่จะให้เครดิตตามจำนวนที่เหมาะสมกับรายการนั้น
เลขตู้: 78/39541

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020