เลขที่หนังสือ | : กค 0702/2704 | วันที่ | : 25 กุมภาพันธ์ 2558 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ค่าตอบแทนจากการรับจ้างเลี้ยงสุกร | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(2)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ |
เนื่องจากเกษตรกรผู้รับจ้างได้แสดงหนังสือรับรองการประกอบกิจการของตนเองว่า เป็นการประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจและสามารถพิสูจน์ค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการได้ ดังนี้
1.กรณีเกษตรกรผู้รับจ้างมีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกิน 1,800,000 บาทต่อปี เอกสารประกอบเพื่อพิสูจน์ค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ ได้แก่ (1)สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) (2)สำเนาแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสัญญาเช่า (3)รายละเอียดการลงทุนในการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ (4)หลักฐานการจ้างแรงงาน หรือหลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมหรือหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง หรือในกรณีไม่มีภาษีที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งจะมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตามแบบ ภ.ง.ด. 1 ก 2.กรณีเกษตรกรผู้รับจ้างมีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี เอกสารประกอบเพื่อพิสูจน์ค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ ได้แก่ (1)สำเนาแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสัญญาเช่า (2)รายละเอียดการลงทุนในการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ (3)หลักฐานการจ้างแรงงาน หรือหลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมหรือหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง หรือในกรณีไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง จะมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตามแบบ ภ.ง.ด. 1 ก จึงขอหารือดังนี้ 1.กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนให้แก่เกษตรกรผู้รับจ้างเลี้ยงสุกรตามข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ และเกษตรกรผู้รับจ้างสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 หรือไม่ 2.บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ให้แก่เกษตรกรผู้รับจ้างเลี้ยงสุกร จะต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 หรือไม่ | แนววินิจฉัย |
1.กรณีเกษตรกรรับจ้างเลี้ยงสุกรให้แก่ CPFTH ตามข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น เงินได้จากการรับจ้างดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้เป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ตามมาตรา 42 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี กรณีเกษตรกรผู้รับจ้างเลี้ยงสุกรมีหลักฐานต่างๆ ในการประกอบกิจการตามที่บริษัทฯ แจ้งมาข้างต้น ซึ่งหลักฐานดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เกษตรกรผู้รับจ้างเลี้ยงสุกรได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจ ตลอดจนสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบกิจการได้นั้น ค่าตอบแทนที่เกษตรกรผู้รับจ้างเลี้ยงสุกรได้รับจากบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรโดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
2.กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่เกษตรกรผู้รับจ้างเลี้ยงสุกรนั้น บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8(1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 | เลขตู้ | : 78/39534 |