เลขที่หนังสือ | : กค 0702/3757 | วันที่ | : 31 มีนาคม 2558 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 50 มาตรา 69 ทวิ และมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ | หน่วยงานรัฐได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีรัฐจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ประกอบการ (ผู้รวบรวมในพื้นที่ สหกรณ์ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผู้ส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ที่เข้าร่วมมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมล็ดจากเกษตรกรตามใบรับรองเกษตรกรปี 2556/57 ว่าการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวจะถือเป็นรายได้ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ และผู้จ่ายต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 เพื่อนำส่งกรมสรรพากรตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร | แนววินิจฉัย |
กรณีหน่วยงานรัฐได้จ่ายเงินชดเชยตามมาตรการฯ ดังกล่าว หน่วยงานรัฐดังกล่าวมีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของยอดเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร หรือมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรแล้วแต่กรณี เนื่องจากการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ ดังกล่าว เป็นการจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ประกอบการโดยตรงภายหลังจากผู้ประกอบการได้จ่ายเงินให้กับเกษตรกรไปแล้ว มิใช่เป็นการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาผ่านผู้ประกอบการไปยังเกษตรกร เงินชดเชยดังกล่าวจึงถือเป็นรายได้ของผู้ประกอบการ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อหน่วยงานรัฐจ่ายเงินชดเชยตามมาตรการฯ ดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้
1. กรณีจ่ายให้แก่บุคคลธรรมดา จะต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้แก่ผู้รับรายหนึ่งๆ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่งๆ ไม่ถึง 10,000 บาท ตามมาตรา 50 (4) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 สำหรับเงินที่จ่ายครั้งหนึ่งๆ ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร | เลขตู้ | : 78/39610 |