เลขที่หนังสือ | : 0702/4586 | วันที่ | : 6 พฤษภาคม 2558 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการค้าร่วม | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 3 เอกาทศ มาตรา 39 และมาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ |
1. บริษัท ส. ได้ทำสัญญาค้าร่วมกับบริษัท ช. จำกัด และบริษัท อ. ชื่อกิจการค้าร่วม "ธุรกิจค้าร่วม อชส." เข้าประมูลงานกับสำนักงานประกันสังคม (สำนักงานฯ) โครงการปฏิรูประบบประชาสัมพันธ์เพื่องานประกันสังคม (ยุคใหม่) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (โครงการฯ) ซึ่งสัญญาค้าร่วมไม่มีข้อตกลงให้บริษัททั้งสามร่วมทุนและแบ่งผลกำไรขาดทุน ได้แบ่งแยกความรับผิดชอบที่ชัดเจน และกำหนดเงินค่าตอบแทนไว้ล่วงหน้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 บริษัท ส. เป็นตัวแทนในการรวบรวมและยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาและเอกสารเกี่ยวกับการทำงานตามที่สำนักงานฯ กำหนด เป็นตัวแทนในการออกใบแจ้งหนี้และเรียกเก็บเงินจากสำนักงานฯ และนำเงินที่ได้รับมาแบ่งชำระให้กับบริษัท ช. และบริษัท อ. รวมทั้งเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนหรือขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อใช้จ่ายในโครงการฯ ติดตั้งระบบเน็ตเวิร์คและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตามข้อกำหนดของโครงการฯ 1.2. บริษัท ช. มีหน้าที่จัดหาที่ปรึกษาในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ พัฒนาโปรแกรมเพื่อเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลของสำนักงานฯ การจัดหาผู้รับเหมาเพื่อปรับปรุงสถานที่และติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ภายในอาคาร ควบคุมและผลิตสื่อตามที่สำนักงานฯ กำหนด 1.3. บริษัท อ. มีหน้าที่ติดตั้งโปรแกรมสกาล่าเพื่อใช้ในการส่งข้อมูลลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์ที่บริษัทฯ จัดหามา ให้สามารถใช้งานได้ ควบคุมการทำงานของระบบโปรแกรมสกาล่า และออกแบบหน้าจอแสดงสื่อประชาสัมพันธ์ตามข้อกำหนดของโครงการฯ ตลอดจนบำรุงรักษาโปรแกรมให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอตลอดอายุสัญญา 2. บริษัท ส. จึงขอหารือ ดังนี้ 2.1 เนื่องจากสำนักงานฯ ยอมรับการประมูลงานแบบ Consortium และจะจ่ายเช็คผ่านบริษัท ส. เพียงบริษัทเดียวไม่แยกจ่ายผ่าน 3 บริษัท โดยบริษัท ส. เป็นผู้รับผิดชอบในการรับชำระเงินจากสำนักงานฯ ทั้งหมด ดังนั้น บริษัท ส. จึงสามารถออกใบแจ้งหนี้ในนามบริษัท ส. ทั้งจำนวน และจ่ายชำระคืนให้กับบริษัท ช.และบริษัท อ. โดยให้บริษัททั้งสองออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินกับบริษัท ส. ตามส่วนงานที่ทำได้หรือไม่ 2.2 บริษัท ส. ไม่จำเป็นต้องขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และแยกยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างหาก เนื่องจากถือว่าเป็นการทำสัญญาร่วมแบบ Consortium ใช่หรือไม่ | แนววินิจฉัย |
1. ลักษณะของกิจการที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น อันจะเข้าเป็นกิจการร่วมค้า ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร มีดังนี้
(1) ได้ตกลงเข้าร่วมทุนกันไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงาน หรือเทคโนโลยี หรือร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนอันจะพึงได้ตามสัญญาที่กระทำร่วมกันกับบุคคลภายนอก หรือ (2) ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยระบุไว้ในสัญญาว่า เป็นกิจการร่วมค้า หรือ (3) ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยสัญญากำหนดให้ต้องรับผิดร่วมกันในงานที่ทำไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และต้องรับค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมกัน โดยสัญญาไม่ได้แบ่งแยกงานและค่าตอบแทนระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน 2. การเป็นกิจการร่วมค้าต้องเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งตาม 1. ซึ่งกรณีของบริษัทฯ บริษัท ไชยกาญจน์ฯ และบริษัท อ. ได้ทำสัญญาค้าร่วม ฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ชื่อกิจการค้าร่วม "ธุรกิจค้าร่วม อชส." เพื่อร่วมกันเสนอราคา ทำสัญญาและปฏิบัติงานตามสัญญาต่อสำนักงานฯ แม้ในสัญญาดังกล่าวไม่ปรากฏว่า มีการร่วมทุนหรือร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุน และในสัญญาได้มีการแบ่งงานกันทำและแบ่งแยกค่าตอบแทนไว้อย่างชัดแจ้งก็ตาม แต่ในการทำสัญญาจ้างฯ กับสำนักงานฯ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก บริษัททั้งสามได้ทำสัญญาในนามของธุรกิจค้าร่วม อชส. ในสัญญาจ้างฯ ดังกล่าว ไม่มีการแบ่งแยกงานหรือความรับผิดชอบเป็นรายบริษัท แต่ต้องรับผิดร่วมกันและแทนกันอย่างลูกหนี้ร่วมในพันธกรณีทั้งปวงตามสัญญาจ้างฯ รวมทั้งการรับชำระเงินค่าจ้างก็มิได้มีการแบ่งแยกแต่อย่างใด โดยมีบริษัทฯ เป็นตัวแทนในการออกใบแจ้งหนี้และรับชำระเงินค่าจ้างทั้งหมด และเมื่อสำนักงานฯ ได้ชำระเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างฯ ก็ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยระบุชื่อธุรกิจค้าร่วม อชส. เป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีดังกล่าวถือได้ว่า บริษัททั้งสามได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก ซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในงานที่ทำไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และรับค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมกัน โดยมิได้แบ่งแยกงานและค่าตอบแทนระหว่างกันไว้อย่างชัดแจ้ง เข้าลักษณะเป็นกิจการร่วมค้า ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่าชื่อของคู่สัญญาจะระบุว่า เป็นกิจการค้าร่วมก็ตาม ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มแยกต่างหากจากบริษัททั้งสาม ดังนั้น ธุรกิจค้าร่วม อชส. จึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ตามมาตรา 3 เอกาทศ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545 และมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร | เลขตู้ | : 78/39654 |