เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/4782
วันที่: 14 พฤษภาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของบริษัทในเครือ (ข้อหารือสำนักงานสรรพากรภาค)
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ(4) และมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1.บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการท่าเทียบเรือ และคลังเก็บผลิตภัณฑ์เหลว (Tank)
          2.บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล ประเภทกิจการสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐาน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรวมกันไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน กำหนดเวลา 8 ปี นับแต่วันที่มีรายได้จากการประกอบการ
          3.บริษัทฯ ทำสัญญากู้ยืมเงินระยะยาวจาก บริษัทในเครือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ และคลังเก็บผลิตภัณฑ์เหลว คิดอัตราดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับ MLR (อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำต่อปีสำหรับเงินกู้แบบมีระยะเวลาของธนาคารพาณิชย์เฉลี่ย 4 แห่ง ที่คิดจากลูกค้าชั้นดีภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย) สำหรับเดือนมกราคม ถึงสิงหาคม 2555 อัตราดอกเบี้ยจ่ายที่ บริษัทในเครือ เรียกเก็บอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.37 ถึง 5.59 ต่อปี ต่อมาในปี 2555 บริษัทฯ ได้ชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วนให้แก่ บริษัทในเครือ คงเหลือเงินกู้ยืมระยะยาว จำนวนเงิน 1,540 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2555 บริษัทฯ ได้ทำสัญญาแก้ไขสัญญาฉบับเดิม โดยมีสาระสำคัญของสัญญาคือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนมาเป็นอัตราคงที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี และกำหนดแผนชำระเงินกู้ยืมคืนให้แก่ บริษัทในเครือ ภายใน 5 ปี จำนวน 6 งวด สำหรับเงินทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระมูลค่าหุ้นและเงินกู้ยืมระยะยาว จำนวนเงิน 4,250.10 ล้านบาท บริษัทฯ ได้นำไปลงทุนในการก่อสร้างท่าเทียบเรือและคลังเก็บผลิตภัณฑ์เหลว (Tank) และท่อขนถ่าย LPG แล้วเสร็จในปี 2554 โดยใช้เงินทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระมูลค่าหุ้นเต็มจำนวนแล้ว และใช้เงินกู้ระยะยาวที่ทำสัญญากู้ยืมมาทั้งหมด
          4.บริษัทฯ ทำสัญญาให้ บริษัทในเครือ กู้ยืมเงินระยะสั้น ภายในวงเงินไม่เกิน 1,700 บาท ณ สิ้นปี 2555 มีเงินกู้ยืมระยะสั้นคงเหลือจำนวนเงิน 200.70 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะสั้นดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของกลุ่ม บริษัทในเครือ เพื่อบริหารสภาพคล่องทางการเงิน ที่เรียกว่า Cash Pooling ด้วยวิธีการบริหารเงินสด โดยอาศัยระบบของธนาคารฯ ในการบริหารจัดการ ทางบริษัทในเครือจะทำหน้าที่บริหารเงินรายวัน โดยการจัดการสภาพคล่องส่วนเกินส่วนขาดของแต่ละบริษัทที่เข้าร่วม กรณีที่มีสภาพคล่องส่วนเกินก็จะนำไปบริหารเงินทุนระยะสั้น หรือในกรณีที่ขาดสภาพคล่อง ก็จะจัดหาเงินกู้ระยะสั้น สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระหว่างกันใช้อัตรา MMR (อัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ระยะสั้นในตลาดเงินที่มีการระดมเงินทุนและให้สินเชื่อระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี) โดยอ้างอิงอัตรา BIBOR O/N (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะสั้นข้ามคืน ระหว่างธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ซึ่งประกาศทุกวันทำการ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย) ลบ Inter Rate Spread (ส่วนต่างที่ บริษัทในเครือ ได้ตกลง และแจ้งให้บริษัทฯ ทราบเพื่อใช้ในการคำนวณอัตราดอกเบี้ย) มีอัตราดอกเบี้ยรับอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.25 ถึง 2.75 ต่อปี โดยวัตถุประสงค์หลักของ บริษัทในเครือ ในการบริหารสภาพคล่องทางการเงินแบบ Cash Pooling เพื่อบริหารเงินรายวันแบบกลุ่มให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด โดยไม่ต้องฝากเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการบริหารเงินผ่านระบบนี้ ทำให้บริษัทฯ ได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย
          5.บริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการประกอบการในเดือนเมษายน 2554 ซึ่งในปี 2554 บริษัทฯ มีรายได้หลักจากค่าบริหารคลังเก็บผลิตภัณฑ์เหลว (Tank) จำนวน 360.38 ล้านบาท ส่วนปี 2555 มีรายได้จากค่าบริหารคลังเก็บผลิตภัณฑ์เหลว (Tank) จำนวน 565.19 ล้านบาท และรายได้ค่าบริการท่าเทียบเรือและขนส่งทางท่อ 123.92 บาท รายได้จากการประกอบการดังกล่าว หลังหักต้นทุนและค่าใช้จ่าย เพียงพอที่จะชำระหนี้เงินกู้ยืมบางส่วน เพื่อเป็นการบรรเทาภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างปี แต่บริษัทฯ ไม่ชำระกลับนำเงินไปให้ บริษัทในเครือ กู้ยืม ทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงเกินความจำเป็น
แนววินิจฉัย           1.กรณีบริษัทฯ กู้ยืมเงินระยะยาวจาก บริษัทในเครือ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ ในสัดส่วนร้อยละ 100 และคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ร้อยละ 4.5 ถึง 5.59 ต่อปี แต่ในขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้นำเงินของกิจการไปให้ บริษัทในเครือ กู้ยืมในระยะสั้น โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.25 ถึง 2.75 ต่อปี การกำหนดอัตราดอกเบี้ยมีความแตกต่างกันระหว่างเงินที่บริษัทฯ กู้ยืม กับเงินที่ให้ บริษัทในเครือ กู้ยืม กรณีถือว่า บริษัทในเครือเดียวกันเดียวกันกู้ยืมเงินกันเองจะคิดอัตราดอกเบี้ยเท่าใดก็ได้ แต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาด การคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาดในวันที่ให้กู้ยืม ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และนำไปถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
          2.กรณีบริษัทฯ มีเงินเพียงพอที่จะชำระคืนเงินต้นบางส่วน ก่อนถึงกำหนดระยะเวลาตามแผนการชำระหนี้เงินกู้ แต่ไม่ชำระ กลับนำเงินที่มีอยู่ไปให้ บริษัทในเครือ กู้ยืมระยะสั้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อบริหารเงินรายวันแบบกลุ่มให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด ทำให้บริษัทฯ ได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ดอกเบี้ยจ่ายส่วนต่างจึงไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 78/39670

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020