เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/4840
วันที่: 15 พฤษภาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย : พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 และตามมาตรา 5 วีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกา
ข้อหารือ           1.บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ / ตุลาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา โดยประกอบกิจการผลิตและขายอุปกรณ์ไฟฟ้า
          2.บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในบริษัท B จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานในการให้เช่าเครื่องผลิตไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 20 ปี โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนและได้รับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี และเงื่อนไขของสัญญาได้กำหนดให้คู่สัญญาของสัมปทานไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นได้
          3.การได้เข้าลงทุนในบริษัท B ดังกล่าว บริษัทฯ ได้กระทำผ่านการถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ดังนี้
               3.1บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในบริษัท A2 จำกัด (บริษัท เอ็ม.เอ.ยูฯ) จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเทศมอริเชียส
               3.2บริษัท A2 ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในบริษัท A3 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเทศสิงคโปร์
               3.3บริษัท C ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในบริษัท A4 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเทศสิงคโปร์
               3.4บริษัท D ถือหุ้นร้อยละ 51.00 ในบริษัท เอ็มฯ (ผู้ได้สัมปทาน)
          4.บริษัทฯ หารือว่า กรณีที่บริษัทฯ มีรายได้จากเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท A2 จดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศมอริเชียส ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นไว้ร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับเงินปันผลและเงินปันผลดังกล่าวได้มาจากกำไรสุทธิที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศมอริเชียสในอัตราร้อยละ 15 บริษัทฯ ไม่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีที่บริษัทฯ ได้รับเงินปันผลจากบริษัท A2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศมอริเชียส และบริษัทฯ ถือหุ้นไว้ร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาจนถึงวันที่ได้รับเงินปันผล นั้น หากเงินปันผลดังกล่าว มาจากกำไรสุทธิที่มีการเสียภาษีในประเทศมอริเชียสในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ และหากประเทศมอริเชียสมีการให้เครดิตภาษีต่างประเทศ เครดิตภาษีดังกล่าวจะต้องเป็นเครดิตสำหรับจำนวนภาษีต่างประเทศที่ได้เสียอย่างแท้จริง โดยเมื่อรวมภาษีในต่างประเทศที่ได้ชำระไปจริงซึ่งได้นำมาใช้เป็นเครดิตภาษีและภาษีที่จะต้องชำระเพิ่มเติม (หากมี) ในประเทศมอริเชียส จะต้องมีจำนวนรวมแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิด้วย บริษัทฯ จึงจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท A2 ตามมาตรา 5 วีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ. 2548
เลขตู้: 78/39673

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020