เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/5066
วันที่: 22 พฤษภาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีค่าเบี้ยเสี่ยงภัยที่จ่ายให้กับพนักงานและลูกจ้างในพื้นที่เสี่ยงภัยชายแดนภาคใต้
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1) และมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1.ธนาคาร ก. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 และเมื่อปี 2548 กระทรวงการคลังมีนโยบายให้ ธนาคาร ก. เป็นผู้ให้บริการทางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ เพื่อให้เป็นสถาบันการเงินตามหลักศาสนาอิสลามเพียงแห่งเดียว (เดิมธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการด้วย) ส่งผลให้ ธนาคาร ก. ต้องเพิ่มทุนให้เพียงพอในการบริหารงานและการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
          2.ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2550 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการเพิ่มทุนใน ธนาคาร ก. โดยให้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 48.54 ธนาคารออมสิน ร้อยละ 39.88 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 9.83 ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐภายหลังการเพิ่มทุนเกินกว่าร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนมีผลให้ ธนาคาร ก. มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502
          3.ธนาคาร ก. ได้มีการจ่ายเงินค่าเบี้ยเสี่ยงภัยให้กับพนักงานและลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยชายแดนใต้ จำนวน 1,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการสรรหาและประเมินผลพนักงานธนาคาร ครั้งที่ 3/2547 และมีการปรับเพิ่มค่าเบี้ยเสี่ยงภัยอีก 2 ครั้ง เป็น 3,000 บาท ต่อคนต่อเดือน และเมื่อ ธนาคาร ก. เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ประชุมคณะกรรมการ ธนาคาร ก. ครั้งที่ 9/2551 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 มีมติปรับเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยเป็น 4,000 บาท ต่อคนต่อเดือน โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2551 จนถึงปัจจุบัน
          4.ธนาคาร ก. ขอทราบว่า เงินค่าเบี้ยเสี่ยงภัยที่จ่ายให้กับพนักงานและลูกจ้างที่ปฏิบัติงาน ในพื้นที่เสี่ยงภัยชายแดนใต้ดังกล่าว และพื้นที่อื่นๆ ที่กระทรวงการคลังประกาศเพิ่มขึ้นเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยในภายภาคหน้า เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่
แนววินิจฉัย           เงินค่าเบี้ยเสี่ยงภัยที่ ธนาคาร ก. จ่ายให้กับพนักงานและลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยชายแดนภาคใต้ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ธนาคาร ก. ครั้งที่ 9/2551 เป็นการกำหนดให้มีค่าตอบแทนเพิ่มเติมขึ้นเป็นกรณีพิเศษสำหรับพนักงานและลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ เพื่อจูงใจให้พนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ใช่เงินได้ที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงการคลังอนุญาตให้เบิกจ่ายได้ จึงไม่ได้รับการยกเว้นตามข้อ 2 (15) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ดังนั้น เงินได้ดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม หากเงินค่าเบี้ยเสี่ยงภัยดังกล่าวเป็นเงินค่าตอบแทนพิเศษที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2550 จึงจะได้รับการยกเว้นตามข้อ 2 (86) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)ฯ
เลขตู้: 78/39690

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020