เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/พ./7611
วันที่: 24 สิงหาคม 2558
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษี
ข้อกฎหมาย : มาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฏากร
ข้อหารือ           1.บริษัทA ประกอบกิจการส่งออกน้ำมันประเภทดีเซลหมุนเร็วและเบนซิน 91 โดยไม่มีการจำหน่ายในประเทศแต่อย่างใด
          2.บริษัทA ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท K จำกัด บริษัทB และบริษัท C ให้ดำเนินการดังนี้
               (1)ว่าจ้างให้บริษัทB เป็นผู้รับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสารกับกรมศุลกากร และดำเนินการขนส่ง
               (2)ว่าจ้างให้C เป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรและตรวจปล่อยสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ที่ด่านศุลกากรทั่วราชอาณาจักร และติดต่อประสานงานกับกรมสรรพสามิต
          3.บริษัทA ได้นำค่าบริการ Shipping Expenses & Service Charge ตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยC ไปใช้เป็นภาษีซื้อหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จากการตรวจสอบใบขนสินค้าขาออก ปรากฏว่า ใบขนสินค้าขาออกระบุชื่อ บริษัทB เป็นตัวแทนออกของให้แก่บริษัทA
          4.สท.ก.ได้มีหนังสือขอให้กรมศุลกากรตรวจสอบว่า C ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนในการออกของต่อกรมศุลกากรหรือไม่ หรือมีผู้ใดกระทำการแทนหรือไม่ ซึ่งกรมศุลกากรได้แจ้งให้ สท.ก.ทราบว่า บริษัทB ได้ลงทะเบียนเป็นตัวแทนออกของให้แก่บริษัทA แต่C ไม่ได้ลงทะเบียนและยื่นคำร้องขออนุญาตเป็นตัวแทนออกของต่อกรมศุลกากร อีกทั้งC ไม่ได้มอบหมายให้ตัวแทนออกของรายอื่นกระทำการแทนแต่อย่างใด และจากการไต่สวนกรรมการของบริษัทB และC ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัททั้งสองไม่ได้มีการจัดทำสัญญาจ้างหรือข้อตกลงใดๆ ในการดำเนินธุรกรรมแทนกัน และไม่มีการจ่ายชำระเงินค่าบริการให้แก่กัน ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ได้รับจากกรมศุลกากร
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทA ได้จ่ายค่าบริการ Shipping Expenses & Service Charge ให้แก่C และนำใบกำกับภาษีดังกล่าว (ซึ่งออกโดยC ) ไปใช้เป็นภาษีซื้อหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า C เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ให้บริการดำเนินพิธีการศุลกากรและตรวจปล่อยสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ที่ด่านศุลกากรทั่วราชอาณาจักร และติดต่อประสานงานกับกรมสรรพสามิตแก่บริษัทA และจากการตรวจสอบและสอบยันใบกำกับภาษีของเจ้าหน้าที่ทีมกำกับดูแล ที่ได้สอบยันใบกำกับภาษีค่าบริการ Shipping Expenses & Service Charge ที่มีความเห็นว่า ใบกำกับภาษีดังกล่าว ออกโดยC จริง โดยได้มีการบันทึกบัญชีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บัญชีลูกหนี้การค้า บัญชีรายได้ค่าบริการ และบัญชีธนาคารไว้ถูกต้องครบถ้วน และมีการยื่นแบบ ภ.พ.30 นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจนครบถ้วนแล้วนั้น แม้C จะไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนออกของจากกรมศุลกากรก็ตาม บริษัทA ก็ย่อมมีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าว ไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
เลขตู้: 78/39832

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020