เลขที่หนังสือ | : กค 0702/838 | วันที่ | : 2 กุมภาพันธ์ 2559 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 48(1)(2)(4) มาตรา 50(5)(6) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ | กรณีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้ซื้อรายเดียวกันหรือต่างรายเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมหลายครั้ง (แบ่งซอยการโอน) จำนวน 14 ราย ว่าจะยังคงให้คำนวณเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายโดยถือราคาประเมินตามส่วนของผู้ซื้อแต่ละคราวเป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย | แนววินิจฉัย |
1.กรณีบุคคลธรรมดาขายอสังหาริมทรัพย์จำนวนหนึ่งแปลงให้กับผู้ซื้อรายเดียวและได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหลายครั้งๆ ละส่วน การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (5) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้คำนวณจากเงินได้ที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ในแต่ละครั้งที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในครั้งนั้น ทั้งนี้ ตามแนวทางปฏิบัติตามหนังสือกรมสรรพากร ลงวันที่ 17 มกราคม 2540
2.เมื่อสิ้นปีภาษี ผู้มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร มีหน้าที่ต้องนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งจำนวนในปีภาษีไปยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องคำนวณภาษีตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร หรือจะใช้สิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับเงินได้ประเภทอื่น ตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้ โดยการเลือกเสียภาษีนั้นต้องนำเงินได้จากขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งจำนวนในปีภาษีมาคำนวณภาษีและเสียภาษีตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 (4) แห่งประมวลรัษฎากร และมีสิทธินำภาษีที่ถูกหักไว้แล้วไปเป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร | เลขตู้ | : 79/39988 |