เลขที่หนังสือ | : กค 0702/5343 | วันที่ | : 27 มิถุนายน 2559 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ | ข้อหารือ |
กรณีสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า เนื่องจากกรมสรรพากรได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 259/2559 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 โดยให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไป ซึ่งสมาคมฯ เห็นด้วยกับหลักการของคำสั่งอย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวมีผลกระทบด้านการปฏิบัติงานและด้านการประกอบการของผู้ประกอบธุรกิจลีสซิ่ง ดังนี้
1.ผลกระทบด้านการปฏิบัติงาน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการต้องเปลี่ยนแปลงเช็คลงวันที่ล่วงหน้า การเปลี่ยนแปลงระบบงาน ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถรองรับกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และภาระการติดตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย 2.ผลกระทบด้านการประกอบการ ได้แก่ อัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 5 ซึ่งไม่เท่าเทียมกับกิจการธนาคารที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับรายได้ดอกเบี้ยในอัตราเพียงร้อยละ 1 ทั้งนี้ การทำธุรกิจการให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งเป็นการให้เช่าทางการเงิน เนื้อหาของสัญญานั้นถือว่าเป็นการให้กู้เงินอย่างหนึ่งตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) ผลตอบแทนของผู้ประกอบการ คือ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยรับและอัตราดอกเบี้ยจ่าย สมาคมฯ ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการให้เช่าซื้อและให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง จำนวน 32 บริษัทจึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณาอนุมัติแนวทางการปฏิบัติของบริษัทฯ ดังนี้ 1. ขออนุมัติเป็นผู้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้เช่าหรือผู้จ่ายเงิน 2. ขอยกเว้นไม่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นรายฉบับทุกครั้งที่มีการรับชำระค่าเช่า แต่ขอระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษี โดยมีสาระสำคัญว่า "บริษัทฯได้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นจำนวน ... บาท แทนผู้จ่ายเงินแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป" 3. ขอยกเว้นไม่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด. 53 ในนามผู้เช่าหรือผู้จ่ายเงินแต่ละราย แต่ขอยื่นรายการในฐานะผู้กระทำการแทน พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งระบุชื่อผู้เช่าหรือผู้จ่ายเงิน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้เช่าหรือผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินจำนวนเงินภาษีที่หักนำส่ง และขอให้ถือว่าเอกสารดังกล่าวเป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด. 53 และให้ถือว่ารายละเอียดดังกล่าวเป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษี 4. ขอใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด. 53 และใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร 5. ขอให้พิจารณาอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากอัตราร้อยละ 5 ของค่าเช่าเป็นร้อยละ 1ของค่าเช่า ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงความจริงที่ผู้ประกอบการธุรกิจลีสซิ่งต้องเสียจากผลกำไรที่เกิดจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย | แนววินิจฉัย |
1. กรณีบริษัทได้รับเงินค่าเช่าหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยผู้จ่ายเงินดังกล่าวมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับบริษัทผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง มาตรา 59 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีสมาคมฯ ในฐานะตัวแทนของบริษัทสมาชิกทั้ง 32 บริษัท มีความประสงค์จะให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนของผู้จ่ายเงินได้ เพื่อออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินได้ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการกระทำการแทนตัวการ บริษัทฯ มีสิทธิกระทำได้ ตามมาตรา 797แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งนี้ ผู้จ่ายเงินจะต้องจัดทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนมอบอำนาจให้บริษัทฯ กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นตัวแทนดำเนินการ ดังนี้ (1)กรณีที่บริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้จ่ายเงิน ซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตาม 1. ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินรายเดิม โดยมีสาระสำคัญว่า "บริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของค่าเช่า ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน" โดยกำหนดระยะเวลาให้ผู้จ่ายเงินนั้นตอบรับ เมื่อผู้จ่ายเงินตอบรับแล้วให้ถือว่าหนังสือแจ้งเป็นข้อตกลงแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนได้ แต่หากเป็นผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายรายใหม่จะต้องมีการแต่งตั้งตัวแทนอย่างชัดเจน (2)กรณีที่บริษัทฯ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินค่าเช่าแทนผู้จ่ายเงินแล้วจึงผ่อนผันให้ผู้จ่ายเงินไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินค่าเช่าให้กับบริษัทฯในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นรายฉบับทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน แต่บริษัทฯ ต้องจัดทำรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย และบริษัทฯยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว รายละเอียดของรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ (ก) คำว่า "รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ประจำเดือน .. พ.ศ. ...."ในที่ที่เห็นได้ชัด (ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายโดยมีข้อความว่า "ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้" (ค) ประเภทเงินได้ (ง) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนเงินภาษีที่หักไว้ (จ) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย (3) เพื่อเป็นการรับรองว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินแล้ว ให้บริษัทฯ ระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีของเงินค่าเช่า โดยมีข้อความว่า "บริษัทได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 เป็นจำนวน .... บาท แทนผู้จ่ายเงินแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป" ซึ่งบริษัทจะต้องจัดให้มีการ scan หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย (4) ให้บริษัทฯ ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 โดยระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ว่าบริษัทฯ ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินในใบแนบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งระบุชื่อผู้จ่ายเงิน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีเงินได้ที่หัก และให้ถือว่าเอกสารรายละเอียดดังกล่าว เป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53 ด้วย ซึ่งจะจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ และให้ถือว่าเป็นบัญชีพิเศษ แสดงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และการนำส่งภาษีตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่าย มีบัญชีพิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 (5) ให้บริษัทฯ ใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษี ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณีที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบสีสซิ่ง นั้น | เลขตู้ | : 79/40134 |