ส่วนที่ 3
การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งราคาตลาด
การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งราคาตลาด ผู้ประกอบการควรดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ 4 ขั้นตอน ซึ่งจะเชื่อมโยง Arm's Length Principle การเปรียบเทียบ และวิธีการได้มาซึ่งราคาตลาดเข้าด้วยกันอย่างเป็นกระบวนการ โดยคำนึงถึงสภาพข้อเท็จจริงของผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งจัดทำเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 แสดงรายละเอียดของธุรกรรมระหว่างคู่สัญญา ดังนี้
1. ระบุขอบเขต ประเภท มูลค่า และกำหนดระยะเวลาของธุรกรรมระหว่างคู่สัญญา ประกอบด้วย
1.1 ข้อมูลขององค์กร ได้แก่ เอกสารแสดงโครงสร้างและความสัมพันธ์ของกิจการ ในกลุ่มเดียวกันแผนการดำเนินงาน รายงานการประชุมของคณะกรรมการ หรือกลุ่มผู้บริหารขององค์กร
1.2 ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อกิจการ ได้แก่ ลักษณะของอุตสาห-กรรมและสภาวะตลาด โครงสร้างและลักษณะของการแข่งขัน สถานภาพของ ผู้จำหน่าย ลูกค้า และคู่แข่งรายใหม่ รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีผลกระทบ ต่อธุรกิจ
1.3 ข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของและการใช้ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง
1.4 ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมที่ทำกับคู่สัญญา โดยให้ระบุลักษณะของธุรกรรม ราคา และเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา
2. ระบุกิจกรรมที่สำคัญในเชิงเศรษฐกิจ และแจกแจงลักษณะการดำเนินงานของแต่ละกิจการ ดังนี้
2.1 หน้าที่งานที่ทำ (Functions Performed) ให้ระบุหน้าที่งานหรือกิจกรรมที่ทำ และความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ
2.2 ทรัพย์สินที่ใช้ (Assets Used) ให้ระบุทรัพย์สินที่ใช้ทั้งทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง รวมทั้งทรัพยากรมนุษย์ และลักษณะการใช้ทรัพย์สินนั้น ๆ
2.3 ความเสี่ยงที่แต่ละกิจการต้องรับภาระ (Risks Assumed)
ขั้นตอนที่ 2 เลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการคำนวณราคาตลาด
1. จัดหาและแยกแยะข้อมูลซึ่งอาจนำมาใช้เป็นแนวทางในการพิจารณากำหนดราคาตลาดสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างคู่สัญญา
2. เลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการคำนวณราคาตลาด ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงของ แต่ละ กิจการ
ขั้นตอนที่ 3 นำวิธีการที่เลือกในขั้นตอนที่ 2 มาคำนวณเพื่อหาราคาตลาด ขั้นตอนนี้เป็นการนำวิธีการที่เลือกไว้ในขั้นตอนที่ 2 มาใช้คำนวณหาราคาตลาด เพื่อให้ได้ราคาตลาดที่สมเหตุ สมผลและมีความน่าเชื่อถือ ผู้ประกอบการควรจะต้องพิจารณารายละเอียดข้อมูลที่รวบรวมไว้ในขั้นตอนที่ 1 และเพื่อให้สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ สิ่งที่ต้องดำเนินการ ได้แก่
1. ปรับปรุงเพื่อขจัดความแตกต่างของข้อมูล เช่น นโยบายการบัญชีที่ใช้อาจมีความแตกต่างกัน
2. จะต้องจัดกลุ่มข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน
3. ควรใช้ข้อมูล 3 - 5 ปี เพื่อให้เห็นสิ่งผิดปกติที่อาจมีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ ราคาตลาดที่คำนวณได้ในขั้นตอนนี้อาจเป็นราคาเดียว (Single Price) หรือเป็นช่วงราคา (Range)
ขั้นตอนที่ 4 ทบทวนการดำเนินการในขั้นตอนที่ 1 - 3 เพื่อพิสูจน์ความเหมาะสมของวิธีการ ที่นำมาใช้ เมื่อได้ราคาตลาดจากขั้นตอนที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นราคาเดียวหรือช่วงราคา ให้ผู้ประกอบการทบทวน การดำเนินการในขั้นตอนที่ 1 - 3 เพื่อพิสูจน์ความเหมาะสมของวิธีการที่นำมาใช้ หากราคาที่คำนวณได้ มีความเหมาะสม ให้นำราคานั้นไปใช้กับธุรกรรมที่ทำกับคู่สัญญาทั้งธุรกรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือจะ เกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี หากเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญซึ่งจะมีผลกระทบต่อราคาตลาดที่คำนวณได้ เช่น ข้อมูลหรือวิธีการที่เลือกใช้เริ่มล้าสมัย หรือเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสมมติฐานที่ตั้งไว้ หรืออาจปรากฏข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลอื่นที่นำมาใช้เปรียบเทียบได้ดีกว่าข้อมูลที่เคย ใช้เดิม เป็นต้น ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการในขั้นตอนที่ 1 - 4 อีกครั้งหนึ่ง
ข้อสังเกต
1. การรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลตามขั้นตอนที่ 1 - 4 มิได้เป็นข้อบังคับ หรือข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งราคาตลาดให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริงของแต่ละกรณี 2. ขอบเขตของการรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูลควรมีรายละเอียดเพียงพอ ที่จะพิจารณาราคาตลาด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการและความซับซ้อนของธุรกรรม
3. ผู้ประกอบการจะต้องนำขั้นตอนที่ 1 - 4 มาใช้อย่างเหมาะสมตามสภาพ ข้อเท็จจริงของแต่ละกรณี เพื่อให้เพียงพอที่จะพิจารณาราคาตลาดได้
4. ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาราคาตลาด ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรในฝ่ายการเงินและบัญชี เท่านั้น
5. ข้อมูลส่วนใหญ่อาจมีการจัดทำเป็นเอกสารทางธุรกิจอยู่แล้ว เช่น รายงานและข้อมูลทางการตลาด แผนงานทางธุรกิจ และงบประมาณ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงเพียงแต่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ให้เป็นหมวดหมู่ โดยไม่จำเป็นต้องทำเอกสารขึ้นใหม่ |