เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/10168
วันที่: 30 พฤศจิกายน 2559
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ทั้งในและต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/3 มาตรา 83 มาตรา 80/1(1) มาตรา 77/1(13) มาตรา 85/10(1)(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัทฯ หารือข้อกฎหมาย เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
               1.บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตอาหารสัตว์และวัตถุที่ใช้เติมในอาหารสัตว์เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก สถานประกอบการตั้งอยู่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554
               2.บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 โดยยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.01) พร้อมทั้งยื่นแบบคำขอแจ้งขอใช้สิทธิเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.01.1) โดยบริษัทฯ สำคัญผิดว่า การประกอบกิจการของบริษัทฯ ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในขณะที่บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ยังไม่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจ จึงได้ระบุประเภทกิจการลงในแบบ ภ.พ.01.1 ข้อ 2.5 ประกอบกิจการโดยมีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และแบบ ภ.พ.01 ระบุประเภทกิจการขายส่ง ขายปลีก สารปรุงแต่งที่ใช้เติมในอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์
               3.เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.09) เพิ่มจำนวนสาขา สาขาตั้งอยู่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อผลิตอาหารสัตว์ และวัตถุที่ผสมแล้วใช้เติมในอาหาร ตามที่บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์จากกรมปศุสัตว์ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556
               4. ในปี 2556 บริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการผลิตและขายอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิต คือ อาหารเสริม ชื่อ ฟิกซ่าร์ วีวา และคอมพลีมิน 7+ ซึ่งบริษัทฯ ได้นำไปขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ ตามใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ ประเภทอาหารเสริมสำหรับสัตว์ และอาหารสัตว์ประเภทวัตถุที่ผสมแล้ว ชนิดสารผสมล่วงหน้า ตามที่ได้รับใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์ โดยการผลิตอาหารสัตว์ดังกล่าว บริษัทฯ จะจำหน่ายให้แก่โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์ม และเกษตรกร โดยลูกค้าจะนำไปผสมอาหารสัตว์เพื่อเสริมแร่ธาตุให้กับ ไก่ สุกร โค
               5. บริษัทฯ มียอดขายจากการจำหน่ายอาหารสัตว์โดยการส่งออกร้อยละ 60 และจากการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 40 บริษัทฯ เห็นว่า รายได้จากการจำหน่ายอาหารเสริมแร่ธาตุสำหรับสัตว์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์ตามมาตรา 81(1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผ่านมาพนักงานบัญชีของบริษัทฯ สำคัญผิดว่า การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ในประเทศจะต้องออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ ส่วนการจำหน่ายวัตถุดิบ วัตถุที่ผสมแล้ว อาหารเสริมจากสัตว์ที่นำเข้า ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายโดยส่งออกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ส่วนภาษีซื้อในส่วนที่ระบุไม่ได้จะเฉลี่ยตามยอดขาย
               6. บริษัทฯ มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และมีการออกใบกำกับภาษีสำหรับการประกอบกิจการขายอาหารสัตว์ ทั้งกรณีอาหารเสริมสำหรับสัตว์ และอาหารสัตว์ประเภทวัตถุที่ผสมแล้ว ชนิดสารผสมล่วงหน้า (พรีมิกซ์) โดยบริษัทฯ มีความประสงค์จะขอออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการขายอาหารสัตว์ ทั้งกรณีอาหารเสริมสำหรับสัตว์ และอาหารสัตว์ประเภทวัตถุที่ผสมแล้ว ชนิดสารผสมล่วงหน้า (พรีมิกซ์) ทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ
          บริษัทฯ ขอหารือ ดังนี้
               1. การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์ตามมาตรา 81(1)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ สามารถยกเลิกการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งกรณีขายอาหารสัตว์ทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศได้หรือไม่
               2. บริษัทฯ สามารถจำหน่ายอาหารสัตว์โดยไม่ออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายในประเทศในระหว่างที่ยังจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ และบริษัทฯ ไม่ต้องยื่นแบบ ภ.พ. 30 จากการจำหน่ายอาหารสัตว์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศได้หรือไม่ หรือบริษัทฯ สามารถยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงรายได้จากการจำหน่ายสินค้าในประเทศเป็นยอดขายที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนการจำหน่ายสินค้าไปต่างประเทศเป็นยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ได้
แนววินิจฉัย           1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ชื่อ ฟิกซ่าร์ วีวา และคอมพลีมิน 7+ เพื่อขายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.01) ระบุประเภทกิจการขายส่ง ขายปลีก สารปรุงแต่งที่ใช้เติมในอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ และยื่นคำขอแจ้งขอใช้สิทธิเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.01.1) ระบุประเภทกิจการโดยมีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 เพื่อขอเป็นกิจการประเภทที่ประสงค์ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ. 30 และออกใบกำกับภาษีขายสำหรับผลิตภัณฑ์ทั้งสองประเภทดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ แสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ มีเจตนาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมิใช่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือสำคัญผิดในข้อกฎหมาย หากบริษัทฯ จะขอออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีสิทธิยื่นคำขอให้อธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยจะต้องปรากฏว่า การประกอบกิจการในส่วนที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ มีมูลค่าของฐานภาษีของกิจการต่ำกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาติดต่อกันไม่น้อยกว่า2 ปี ตามมาตรา 85/10(3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีบริษัทฯ ประสงค์จะขอให้อธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของการขายอาหารสัตว์ส่งออกไปต่างประเทศนั้นจะต้องปรากฏว่า การประกอบกิจการของบริษัทฯ มีมูลค่าของฐานภาษีของกิจการต่ำกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนการขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/10(1) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีบริษัทฯ ยังไม่ถูกเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อที่จ่ายไปในแต่ละเดือนภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เป็นรายเดือนภาษีตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีการส่งออกอาหารสัตว์ไปต่างประเทศ หากบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการส่งออกตามมาตรา 77/1(13) แห่งประมวลรัษฎากร และได้ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ บริษัทฯ ย่อมได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้แสดงยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 0 ในแบบ ภ.พ. 30
เลขตู้: 79/40250

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020