เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/10343
วันที่: 7 ธันวาคม 2559
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ให้ส่วนลดจากการขายรถยนต์แก่ลูกค้า
ข้อกฎหมาย: การให้ส่วนลด
ข้อหารือ           สมาคมฯ หารือภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ให้ส่วนลดจากการขายรถยนต์แก่ลูกค้า สรุปความได้ว่า บริษัทผู้ประกอบการให้เช่าซื้อรถยนต์ (บริษัทฯ) เป็นผู้ให้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่ต้องการซื้อรถยนต์เพื่อการอุปโภคและบริโภค ลูกค้าจะสั่งซื้อรถยนต์จากผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ราคา 1,000,000 บาท ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์จะให้ส่วนลดลูกค้าเป็น 2 กรณี ดังนี้
               กรณีที่ 1 ให้ส่วนลดการค้า จำนวน 50,000 บาท เงินดาวน์ จำนวน 150,000 บาท ลูกค้าชำระเงินดาวน์ จำนวน 150,000 บาท ยอดขอสินเชื่อกับบริษัทฯ จำนวน 800,000 บาท บริษัทฯ จะชำระเงินให้แก่ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 800,000 บาท บริษัทฯ จะออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเงินดาวน์ให้แก่ลูกค้า จำนวน 150,000 บาท
               กรณีที่ 2 ให้ส่วนลดเพื่อส่งเสริมการขาย จำนวน 50,000 บาท เงินดาวน์ จำนวน 200,000 บาท ลูกค้าชำระเงินดาวน์ จำนวน 150,000 บาท ยอดขอสินเชื่อกับบริษัทฯ จำนวน 800,000 บาท บริษัทฯ จะชำระเงินให้แก่ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 800,000 บาท (ราคารถยนต์หักเงินดาวน์เต็มจำนวนไม่หักส่วนลดจากการส่งเสริมการขาย) บริษัทฯ ออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเงินดาวน์ให้แก่ลูกค้า จำนวน 200,000 บาท
          สมาคมฯ ขอทราบว่า
               1. ส่วนลดกรณีที่ 1 ถือเป็นส่วนลดการค้าจากการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าที่ต้องการซื้อรถยนต์ ผู้แทนจำหน่ายจะออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ จำนวน 950,000 บาท ตามมาตรา 79/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 14 (1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ถูกต้องหรือไม่
               2. ส่วนลดกรณีที่ 2 ถือเป็นค่าส่งเสริมการขายที่ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ให้แก่ลูกค้าที่ต้องการซื้อรถยนต์ ผู้แทนจำหน่ายจะออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ จำนวน 1,000,000 บาท ตามข้อ 14 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542ฯ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ถูกต้องหรือไม่
               3. ส่วนลดจำนวน 50,000 บาท ทั้ง 2 กรณี ถือเป็นส่วนลดที่ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ให้แก่ลูกค้าที่ต้องการซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นผู้บริโภคคนสุดท้ายโดยตรง จึงไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีที่ลูกค้าต้องการซื้อรถยนต์ราคา 1,000,000 บาท และผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ได้ให้ส่วนลด จำนวน 50,000 บาท โดยลูกค้าจะเป็นผู้ชำระเงินดาวน์ จำนวน 150,000 บาท ให้แก่ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ และลูกค้าก็จะให้บริษัทฯ เป็นผู้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือหลังจากหักส่วนลดและเงินดาวน์ จำนวน 800,000 บาท และรับโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เป็นของบริษัทฯ ต่อมาบริษัทฯ จึงได้นำรถยนต์มาขายต่อให้แก่ลูกค้า โดยมีการทำสัญญาเช่าซื้อระหว่างบริษัทฯ กับลูกค้าและหากลูกค้าผิดนัดไม่ชำระราคาเป็นจำนวนคราวที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ บริษัทฯ มีสิทธิที่จะทำการยึดรถยนต์คืนจากลูกค้าพร้อมกับริบเงินค่ารถยนต์ที่ลูกค้าได้ชำระมาก่อนแล้ว จึงเห็นได้ว่า สัญญาระหว่างบริษัทฯ กับลูกค้าเป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขที่กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังมิได้โอนไปเป็นของลูกค้าโดยเด็ดขาดจนกว่าลูกค้าจะชำระราคาครบถ้วน กรณีถือได้ว่า ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ได้ขายรถยนต์ให้แก่บริษัทฯ พร้อมกับรับชำระราคามาก่อน ต่อมาบริษัทฯ จะได้นำไปขายพร้อมกับรับชำระราคาจากลูกค้าเป็นงวด ๆ ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน ดังนั้น การให้ส่วนลดทั้งสองกรณีดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์จึงต้องออกใบกำกับภาษีโดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าสินค้าทั้งหมดโดยไม่หักส่วนลดตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นกรณีที่ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ได้ให้ส่วนลดแก่บริษัทฯ ผู้ซื้อสินค้าซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะนำรถยนต์ไปขายต่อมิใช่เป็นการให้ส่วนลดแก่ลูกค้าผู้ซื้อรถยนต์ที่เป็นผู้บริโภคแต่อย่างใด ส่วนลดที่ให้จึงอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 79/40265

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020