เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/530
วันที่: 25 มกราคม 2560
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินชดเชยจากการยกเลิกสัญญา
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40 (8) ,77/1, 77/2
ข้อหารือ           บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์ ได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์กับบริษัท อ. จำกัด (ผู้เช่า) ตามสัญญาเลขที่ Y ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2559 โดยมีข้อตกลงระบุในสัญญาว่า หากผู้เช่าต้องการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้เช่าจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับบริษัทฯ เท่ากับอัตราร้อยละ 40 ของยอดเงินค่าเช่าทั้งหมดที่เหลือตามสัญญาเช่า บริษัทฯ จึงขอหารือว่าหากบริษัทฯ ได้รับเงินชดเชยจากการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด บริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และผู้เช่ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีผู้เช่าตกลงจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่บริษัทฯ หากมีการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดเวลา เงินชดเชยดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และไม่เข้าลักษณะเป็นรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 77/1 (8) (9) (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 80/40304

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020