เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/6094
วันที่: 6 สิงหาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี สำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
ข้อกฎหมาย : มาตรา ข้อ 2 (51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 216 ( พ.ศ.2509)
ข้อหารือ            นาย พ.เข้าทำงานกับ บริษัท ป.จำกัด (บริษัทฯ) ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 และบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งการเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 โดยจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 1 เดือน จำนวน 70,000 บาท และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 1 เดือน จำนวน 70,000 บาท นาย พ.เข้าใจว่า เงินชดเชยที่ได้รับจากบริษัทฯ เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากเป็นค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาท ตามข้อ 2 (51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร นาย พ.ขอทราบว่า เงินได้ดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย            1. กรณีบริษัทฯ เลิกจ้าง นาย พ.โดยได้จ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 1 เดือน หากเงินชดเชยดังกล่าวเป็นค่าชดเชยที่ท่านได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน นาย พ.มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาท ตามข้อ 2 (51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
          2. กรณีเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน ที่ นาย พ.ได้รับจากการเลิกจ้าง เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร นาย พ.ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 81/40757

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020