เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/5977
วันที่: 1 สิงหาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินทุนอุดหนุนการวิจัย
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40 มาตรา 50 มาตรา 63 และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ            มหาวิทยาลัย ฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินทุนอุดหนุนการวิจัย มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
           1. มหาวิทยาลัยฯ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอดเทคโนโลยีทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู โดยได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินผลประโยชน?ค?าธรรมเนียม ค่าปรับและค่าบริการของมหาวิทยาลัยฯ
           2. มหาวิทยาลัยฯ กำหนดให้อาจารย์ นักวิจัยและบุคลากรอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยฯ สามารถเสนอขอสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยเพื่อดำเนินโครงการวิจัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 และข้อบังคับมหาวิทยาลัย ร.ว่าด้วยมาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2560 โดยการเบิกจ่ายเงินทุนอุดหนุนการวิจัยเป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัย ฯ. ว่าด้วยทุนอุดหนุนการวิจัย พ.ศ. 2560 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
           การเบิกจ่ายทุนอุดหนุนการวิจัย ให้ผู้รับทุนเสนอแผนการวิจัยและแผนการใช้จ่ายเงินตามงบประมาณที่ได้รับ โดยแยกประเภทรายจ่ายและอัตราค่าใช้จ่าย ดังต่อไปนี้
                ก. งบดำเนินการให้จ่ายเป็นสามงวด
                (1) งวดที่หนึ่ง จำนวนร้อยละหกสิบของทุนอุดหนุนการวิจัยที่ได้รับอนุมัติ จ่ายเมื่อโครงการวิจัยได้รับอนุมัติและทำสัญญารับทุนอุดหนุนการวิจัยกับมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว
                (2) งวดที่สอง จำนวนร้อยละยี่สิบของทุนอุดหนุนการวิจัยที่ได้รับอนุมัติ จ่ายเมื่อผู้รับทุนเก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้วและรายงานความก้าวหน้า
                (3) งวดที่สาม จำนวนร้อยละยี่สิบของทุนอุดหนุนการวิจัยที่ได้รับอนุมัติ จ่ายเมื่อผู้รับทุนส่งรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านการตรวจรับจากคณะกรรมการประเมินผลงานวิจัยและแผ่นบันทึกข้อมูล ให้สถาบันวิจัยและพัฒนาตามจำนวนที่กำหนดในสัญญารับทุนอุดหนุนการวิจัย พร้อมรายงานสรุปค่าใช้จ่าย และคืนครุภัณฑ์ที่ได้จัดซื้อจากเงินอุดหนุนการวิจัยแล้ว
                ข. งบลงทุน (ครุภัณฑ์) ให้จ่ายเต็มจำนวนในคราวเดียวกับงบดำเนินการในงวดที่หนึ่ง
          กรณีรับเงินทุนอุดหนุนการวิจัยจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย และหน่วยงานนั้นได้โอนเงินมาให้มหาวิทยาลัยดำเนินการจ่ายให้ผู้รับทุน ให้ผู้รับทุนทำการเบิกจ่ายตามงวดเงินของหน่วยงาน ผู้ให้ทุนกำหนด”
           3. มหาวิทยาลัยฯ เห็นว่า การจ่ายเงินให้แก่ผู้รับทุนในแต่ละงวดถือเป็นการจ่ายทุนวิจัยสำรองจ่ายล่วงหน้า เป็นการมอบให้ผู้รับทุนนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการวิจัยแทนมหาวิทยาลัยฯ โดยงวดสุดท้ายผู้รับทุนต้องทำสรุปค่าใช้จ่ายพร้อมส่งคืนครุภัณฑ์ (ถ้ามี) ให้มหาวิทยาลัยฯ และหากมีงบประมาณเหลือจ่ายให้ผู้รับทุนนำส่งคืนมหาวิทยาลัยฯ ตามประกาศมหาวิทยาลัย ฯ
           4. งบประมาณของโครงการวิจัย จำแนกออกเป็น 3 ส่วน คือ
                4.1 งบบุคลากร ได้แก่ ค่าจ้างชั่วคราว ค่าจ้างผู้ช่วยนักวิจัย
                4.2 งบดำเนินการ ได้แก่ ค่าตอบแทน (เช่น ค่าตอบแทนคณะผู้วิจัย ค่าตอบแทนที่ปรึกษา ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าตอบแทนกลุ่มตัวอย่าง ค่าตอบแทนผู้ให้ข้อมูล เป็นต้น) ค่าใช้สอย (เช่น ค่าใช้จ่าย ในการเดินทาง ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม เป็นต้น) ค่าวัสดุ ค่าธรรมเนียมอุดหนุนสถาบัน ค่าสาธารณูปโภค
                4.3 งบลงทุน ได้แก่ ค่าครุภัณฑ์ ค่าสิ่งก่อสร้าง
           5. มหาวิทยาลัยฯ ขอหารือดังนี้
                5.1 ทุนวิจัยตาม 4. เป็นเงินได้พึงประเมินของผู้รับทุนหรือไม่ หากเป็นจะถือเป็นเงินได้ พึงประเมินประเภทใด
                5.2 กรณีมีผู้รับทุนวิจัยในโครงการมากกว่า 1 คน โดยได้กำหนดสัดส่วนความรับผิด ของผู้ร่วมวิจัยในข้อเสนอโครงการวิจัย และในสัญญาได้ระบุจำนวนผู้ร่วมวิจัย แต่ละคนจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้อย่างไร
                5.3 หากทุนวิจัยเป็นเงินได้พึงประเมินของผู้รับทุน จะมีแนวทางผ่อนปรนภาระภาษีอย่างไร ได้หรือไม่ เพื่อเป็นการสนับสนุนการวิจัยซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล
                5.4 กรณีผู้รับทุนวิจัยขอคืนทุนอุดหนุนการวิจัย ผู้รับทุนสามารถขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายได้หรือไม่ และมหาวิทยาลัยฯ สามารถดำเนินการแทนผู้รับทุนได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย            1. กรณีตามข้อเท็จจริง เงินทุนวิจัยส่วนที่เป็นเงินค่าตอบแทนตัวผู้รับทุนวิจัย สามารถพิจารณาได้ดังต่อไปนี้
                1.1 กรณีผู้รับทุนวิจัยเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยฯ ไม่ว่าจะมีลูกจ้างคนเดียวหรือหลายคน ที่เข้าทำสัญญาเป็นผู้รับทุนวิจัยกับมหาวิทยาลัยฯ เงินค่าตอบแทนที่ได้รับจะเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้รับทุนวิจัยแต่ละคน
                1.2 กรณีผู้รับทุนวิจัยมิใช่ลูกจ้างของมหาวิทยาลัยฯ เงินค่าตอบแทนที่ได้รับจะเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
                1.3 กรณีผู้รับทุนวิจัยมิใช่ลูกจ้างของมหาวิทยาลัยฯ และได้ทำการวิจัยร่วมกับบุคคลอื่น หรือลูกจ้าง หรือมีสำนักงาน และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารงานจำนวนมาก เงินได้ที่ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
           2. กรณีหากมหาวิทยาลัยฯ ได้จ่ายเงินทุนวิจัยส่วนที่เป็นงบบุคลากร งบดำเนินการอื่นๆ นอกจากค่าตอบแทนตัวผู้รับทุนวิจัย และงบลงทุน ให้แก่ผู้รับทุนวิจัย หากการจ่ายเงินทุนวิจัยในส่วนดังกล่าว มีลักษณะเป็นการยืมเงินทดรองจ่าย เงินดังกล่าวไม่ใช่เงินได้พึงประเมินของผู้รับทุนวิจัย มหาวิทยาลัยฯ ไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายเงินยืมทดรองจ่ายดังกล่าว โดยต้องมีข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นการยืมเงินทดรอง เช่น กรณีมหาวิทยาลัยฯ ได้สั่งซื้อครุภัณฑ์หรือสั่งจ้างโดยตรงแต่ให้ผู้รับทุนวิจัยยืมเงิน ทดรองไปจ่ายตามใบสั่งซื้อหรือสั่งจ้างนั้น ซึ่งผู้ขายสินค้าได้ออกหลักฐานใบเสร็จรับเงินในนามมหาวิทยาลัยฯ และมหาวิทยาลัยฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (4) หรือมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี และเมื่อสิ้นสุดโครงการวิจัยผู้รับทุนวิจัยได้คืนเงินทุนวิจัย วัสดุ อุปกรณ์ส่วนที่เหลือและครุภัณฑ์ให้แก่มหาวิทยาลัยฯ เงินทุนวิจัยส่วนอื่นนอกจากค่าตอบแทนของผู้รับทุนวิจัยดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินของผู้รับทุนวิจัย
           3. หากเงินทุนวิจัยที่ผู้รับทุนวิจัยได้รับไม่เข้าลักษณะตาม 2. แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ พึงประเมินของผู้รับทุนวิจัย ปัจจุบันยังไม่มีนโยบายของรัฐบาลในการผ่อนปรนภาระภาษีในกรณีดังกล่าว แต่อย่างใด ผู้รับทุนวิจัยจะต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยแบ่งประเภทของเงินได้ในลักษณะเช่นเดียวกับ 1.
           4. กรณีผู้รับทุนวิจัยขอคืนทุนอุดหนุนการวิจัย หากเงินทุนวิจัยส่วนที่เป็นเงินค่าตอบแทน ของตัวผู้รับทุนวิจัย หรือเงินทุนวิจัยส่วนที่ไม่เข้าลักษณะเป็นการยืมเงินทดรองจ่ายตาม 2. ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินของผู้รับทุนวิจัย หากมีการเลิกสัญญาเป็นเหตุให้มีการคืนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวและหากผู้รับทุนวิจัยได้คืนเงินดังกล่าวให้แก่มหาวิทยาลัยฯ แล้ว จึงเป็นกรณีที่ผู้รับทำวิจัยถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ เป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสีย ผู้รับทุนวิจัยมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีได้ภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไปตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 81/40731

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020