เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/5981
วันที่: 1 สิงหาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน
ข้อกฎหมาย : พระราชกฤษฎีกา ฯ (ฉบับที่ 284) พ.ศ.2538
ข้อหารือ           กรณีบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบประเภสามัญศึกษาตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ชื่อโรงเรียน ก. (โรงเรียน) มีค่าตอบแทน และ บริษัทฯ ยังมีรายได้อื่น ๆ ดังนี้
          1. รายได้จากการจำหน่ายอุปกรณ์การเรียน (อุปกรณ์ลูกเสือ เนตรนารี ถุงเท้า) การทำบัตรประจำตัวนักเรียน การทำเอกสารหรือหลักฐานการศึกษาของนักเรียน
          2. รายได้จากการให้บริการบุคคลอื่นที่ไม่ใช่นักเรียน เช่น การให้บริการสระว่ายน้ำ การทำบัตรประจำตัวผู้ปกครอง การจำหน่ายเครื่องแบบนักเรียนที่บุคคลอื่นมาฝากขาย เงินบริจาคเพื่อการให้ใช้สถานที่ของโรงเรียนฯ
          3. รายได้ประเภทดอกผลจากพันธบัตรหรือกองทุนต่าง ๆ ที่บริษัทฯ ได้ทำการลงทุนและ รายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการของโรงเรียนฯ เมื่อเสื่อมสภาพแล้ว
          ขอหารือว่า เนื่องจากโรงเรียนฯ เป็นนิติบุคคลตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 โรงเรียนฯ จึงไม่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร หากรายได้อื่น ๆ เหล่านี้มีหลักฐานแสดงว่าเป็นของโรงเรียนฯ โรงเรียนฯ ก็ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ อย่างไรก็ดี การที่บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนฯ และเป็นผู้แทนของโรงเรียนฯ บริษัทฯ จึงมิใช่ผู้ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน หากบริษัทฯ ได้รับเงินได้จากการจัดสรรผลตอบแทนที่ได้จากการดำเนินกิจการของโรงเรียนฯ ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และมีรายได้อื่น ๆ ตามที่หารือมา บริษัทฯ ต้องนำผลตอบแทนและรายได้อื่น ๆ นั้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 284) พ.ศ. 2538 ถูกต้อง หรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีที่บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนฯ จากกระทรวง ศึกษาธิการตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 โรงเรียนฯ จึงเป็นนิติบุคคลนับแต่วันที่บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาต และบริษัทฯ มีฐานะเป็นผู้แทนของโรงเรียนเอกชนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว กรณีจึงถือว่า บริษัทฯ มิได้เป็นผู้ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน การที่มาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้โรงเรียนฯ โดยคณะกรรมการบริหารทำการจัดสรรผลตอบแทนที่ได้ จากการดำเนินการของโรงเรียน ฯ ให้แก่บริษัทฯ ในฐานะผู้รับใบอนุญาตตอบแทนที่ได้รับจัดสรรดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนการที่บริษัทฯ ดำเนินการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 284) พ.ศ. 2538 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 588) พ.ศ. 2558 ส่วนกรณีที่บริษัทฯ มีรายได้อื่น ๆ ตามข้อหารือซึ่งปรากฏตามหลักฐานใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีว่าเป็นของบริษัทฯ หากบริษัทฯ รับรู้รายได้ดังกล่าวเป็นรายได้ของบริษัทฯ กรณีถือว่า เป็นรายได้ที่บริษัทฯ ได้รับเนื่องจากกิจการอื่นนอกจากการประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน บริษัทฯ ต้องนำมารวมเป็นรายได้เพื่อการคำนวณกำไรสุทธิ และไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิดังกล่าวตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 284) พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 588) พ.ศ. 2558
เลขตู้: 81/40767

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020