เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/6277
วันที่: 9 สิงหาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีขอความอนุเคราะห์ให้ความเป็นธรรมในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ข้อกฎหมาย : มาตรา 48 (5) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฏากร
ข้อหารือ            1. นาย ว. ได้ทำงานที่บริษัท A. เป็นเวลา 10 ปี 5 เดือน ก่อนถูกเลิกจ้าง เนื่องจาก การปรับปรุงโครงสร้างบริษัทเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 โดยบริษัทฯ จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายประมาณวันที่ 25 ธันวาคม 2559 ตามรอบการจ่ายเงินเดือนของบริษัทฯ และนาย ว. ได้ตัดสินใจปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้เปิดสะสมไว้กับบริษัทฯ ในเวลาเดียวกัน ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นเรื่องปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับธนาคารผู้ดูแลกองทุนให้ตามที่ร้องขอ มีผลวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ตามสถานภาพการเป็นพนักงานของบริษัทฯ(ไม่มีการแยกจ่ายเป็นงวดแต่อย่างใด) โดยธนาคารผู้ดูแลกองทุนได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ และจ่ายเงินสมทบในกองทุนกลับคืนมาให้ในเดือนมกราคม 2560 เมื่อนาย ว. ได้ยื่นแบบปีภาษี 2560 ได้รับแจ้งว่า เงินส่วนนี้ไม่สามารถยื่นแบบโดยแยกคำนวณในใบแนบได้อีก เนื่องจาก นาย ว. ได้ยื่นแบบโดยแยกคำนวณในใบแนบไปแล้วสำหรับรายได้ปี 2559 และต้องนำรายได้จากกองทุนทั้งหมดนี้ไปรวมกับรายได้ปกติของปี 2560 ทำให้นาย ว. ได้รับความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรม จึงขอร้องทุกข์เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ความเป็นธรรมเช่นเดียวกับผู้เสียภาษีรายอื่น ๆ ที่เคยประสบปัญหาเช่นเดียวกันที่ผ่านมา โดยได้รับการอนุมัติให้มีการยื่นแบบโดยแยกคำนวณในใบแนบได้สำหรับเงินส่วนที่จ่ายล่าช้าเป็นกรณีพิเศษ เพื่อคำนวณภาษีตามระบบต่อไป
           2. ปีภาษี 2560 นาย ว. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ระบุสถานภาพสมรส คู่สมรสไม่มีเงินได้ แสดงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เงินเดือน จำนวน 1,109,952.63 บาท หักยกเว้นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนที่เกิน 10,000 บาท จำนวน 50,000 บาท มาตรา 40 (4) ข แห่งประมวลรัษฎากร เงินปันผล จำนวน 4,330.07 บาท เครดิตภาษีเงินปันผล จำนวน 1,091.67 บาท มาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ค่าเช่า จำนวน 8,421.04 บาท เงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF จำนวน 133,288.15 บาท ราคาทุน จำนวน 110,000 บาท ผลประโยชน์ (กำไร) จำนวน 23,288.15 บาท (ได้รับยกเว้นถือครองตามเงื่อนไข) เครดิตภาษีหัก ณ ที่จ่าย รวมทั้งสิ้น จำนวน 39,814.31 บาท หักลดหย่อนตนเอง จำนวน 60,000 บาท คู่สมรส จำนวน 60,000 บาท บุตร (1 คน) จำนวน 30,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา จำนวน 60,000 บาท ค่าเบี้ยประกันชีวิต จำนวน 100,000 บาท ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ จำนวน 3,939 บาท เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว จำนวน 200,000 บาท ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จำนวน 100,000 บาท เงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคม จำนวน 9,000 บาท ค่าซื้อสินค้าหรือบริการ จำนวน 15,000 บาท และเงินบริจาค จำนวน 22,650 บาท ขอคืนภาษีอากรไว้ จำนวน 32,246.30 บาท และมีเงินได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 1,269,642.60 บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 49,973.20 บาท เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีภาษีชำระเพิ่มเติมหรือชำระเกินตามใบแนบ และยังไม่ได้รับคืนเงินภาษีตามคำร้องขอ
           3. จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและการวิเคราะห์แบบฯ ของปีภาษี 2559 พบว่า นาย ว. ทำงานที่บริษัท T. เป็นเวลา 10 ปี 5 เดือน ได้ถูกเลิกจ้าง ในปีภาษี 2559 เนื่องจาก บริษัทฯ ปรับปรุงโครงสร้างบริษัท เพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 โดยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน และนายวิชนันท์ฯ เลือกเสียภาษีโดยคำนวณใบแนบตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่มีภาษีชำระเพิ่มเติมหรือชำระเกินตามใบแนบ ปรากฏตามการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2559 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560
           4. ปีภาษี 2560 นาย ว. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ขอคืนภาษี จำนวน 32,246.30 บาท ตรวจเอกสารหลักฐานพบว่า นาย ว. มีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 1,269,642.60 บาท ได้รับในปีภาษี 2560 และได้เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจาก นาย ว. ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ในปี 2559 ได้ใช้สิทธิในการคำนวณใบแนบแล้ว ต่อมาได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในปี 2560 และใช้สิทธินำเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเลือก เสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร อีกครั้งหนึ่ง ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ข้อ 2 (ข)
           5. นาย ว. แจ้งว่า ได้แจ้งเรื่องปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ได้ยื่นเรื่องปิดกองทุนไปยังธนาคารผู้ดูแลกองทุน มีผลวันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่ได้รับเงินกองทุนคืนเมื่อเดือนมกราคม 2560 จึงร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม โดยขอใช้สิทธิแยกคำนวณใบแนบสำหรับเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับล่าช้า ในปีภาษี 2560
แนววินิจฉัย           กรณีนาย ว. ได้ทำงานในบริษัทฯ เป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปี และได้ถูกบอกเลิกสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 โดยนาย ว. ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภทที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน จำนวน 2 ครั้ง คือ เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ในปี 2559 และเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ในปี 2560 ถือเป็นกรณีที่มีการจ่ายเงินจากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้งไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท เมื่อนาย ว. ได้ใช้สิทธิเลือกนำเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานมาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2559 แล้ว ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2560 นาย ว. จึงไม่มีสิทธินำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ไปเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 2 (ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ดังนั้น นาย ว. จึงต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ในปี 2560 ไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่ได้รับในระหว่างปีภาษีเพื่อยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 81/40764

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020