เลขที่หนังสือ | : 0702/6419 | วันที่ | : 16 สิงหาคม 2561 | เรื่อง | : การแก้ไขฐานข้อมูลแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ที่ยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ |
1. บริษัทฯ ประกอบกิจการขายส่งนาฬิกา เครื่องประดับเพชรพลอย การขายส่งเครื่องสำอางและเครื่องประทินโฉม ร้านขายปลีกเครื่องประดับเพชรพลอย เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
2. บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัท ม.จำกัด ซึ่งเป็นสำนักงานบัญชีทำหน้าที่จัดเตรียมเอกสารข้อมูลทางบัญชีและยื่นแบบ ภ.พ.30 ให้แก่บริษัทฯ โดยมีข้อตกลงว่า สำนักงานบัญชีต้องส่งข้อมูลตัวเลขการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของแต่ละเดือนภาษีมาให้ผู้บริหารของบริษัทฯ ตรวจทานก่อนยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกครั้ง และเมื่อผู้บริหารของบริษัทฯ แจ้งให้สำนักงานบัญชีทราบว่า ข้อมูลดังกล่าวถูกต้องครบถ้วนแล้ว สำนักงานบัญชีจึงจะยื่นแบบ ภ.พ.30 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรในนามของบริษัทฯ โดยใช้หมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่านของบริษัทฯ ได้ 3. เนื่องจากเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 พนักงานของสำนักงานบัญชีได้ทำการยื่นแบบ ภ.พ.30 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผิดพลาด กล่าวคือ พนักงานของสำนักงานบัญชีมีเจตนาที่จะยื่นแบบ ภ.พ.30 ของบริษัท ค.จำกัด แต่เกิดความผิดหลงไปกรอกหมายเลขผู้ใช้งานและรหัสผ่านของบริษัทฯ เป็นเหตุให้ระบบได้บันทึกข้อมูลว่าบริษัทฯ ทำการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติ สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2559 แล้ว เมื่อถึงคราวที่บริษัทฯ จะทำการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติสำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2559 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร จึงไม่สามารถกระทำได้ ต่อมา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 บริษัทฯ จึงได้ไปยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติในรูปของกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาคลองเตย 2 (สส.คลองเตย 2) 4. บริษัทฯ ได้มีหนังสือขออนุมัติยกเลิกหรือเพิกถอนแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2559 ฉบับที่มีการยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 เนื่องจากความผิดพลาดตามที่กล่าวมาข้างต้น และขอให้มีคำสั่งอนุมัติให้รับหรือถือว่าแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2559 ที่ยื่น ณ สส.คลองเตย 2 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 เป็นแบบฉบับปกติ เพื่อให้บริษัทฯ มีสิทธิใช้เครดิตภาษีที่ชำระเกินพันยอดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนภาษีธันวาคม 2559 เป็นจำนวน 26,034,125.11 บาท ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัด ๆ ไป โดยไม่ต้องขอคืนเป็นเงินสด 5. สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 13 (สท.กทม.13) ได้ตรวจสอบข้อมูลการยื่นแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2559 ของบริษัทฯ พบว่า บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 (ฉบับปกติ) จำนวน 2 ฉบับดังนี้ 5.1 ยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 ระบุยอดขาย 0.00 บาท ยอดขายที่ต้องเสียภาษี 0.00 บาท ภาษีขาย 0.00 บาท ยอดซื้อ 64,755.00 บาท ภาษีซื้อ 4,532.85 บาท ภาษีที่ชำระเกินเดือนนี้ 4,532.85 บาท ภาษีที่ชำระเกินยกมา 222,144.90 บาท ภาษีสุทธิชำระเกิน 226,677.75 บาท และขอนำภาษีที่ชำระเกินเดือนนี้ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป 5.2 ยื่นในรูปของกระดาษ ณ สส.คลองเตย 2 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 ระบุยอดขาย 16,048,551.47 บาท ยอดขายที่ต้องเสียภาษี 16,048,551.47 บาท ภาษีขาย 1,123,398.53 บาท ยอดซื้อ 15,103,420.08 บาท ภาษีซื้อ 1,057,239.02 บาท ภาษีที่ต้องชำระ 66,159.01 บาท ภาษีที่ชำระเกินยกมา 26,034,125.11 บาท ภาษีสุทธิชำระเกิน 25,967,966.10 บาท ขอนำภาษีที่ชำระเกินเดือนนี้ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป (ซึ่งระบบประมวลผลออกรายการปฏิเสธ) | แนววินิจฉัย | กรณีบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2559 (ฉบับปกติ) จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 และฉบับที่สองยื่นในรูปของกระดาษ ณ สส.คลองเตย 2 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 โดยบริษัทฯ ขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2559 ฉบับยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เนื่องจากได้มีการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับรายการยอดขาย ภาษีขาย ยอดซื้อ ภาษีซื้อ ฯลฯ ไว้ผิดพลาดนั้น กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ไม่สามารถยกเลิกแบบ ภ.พ.30 ฉบับแรกที่ได้ยื่นไว้ไม่ถูกต้องได้ แต่บริษัทฯ สามารถแก้ไขข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการที่ไม่ถูกต้องนั้นได้โดยการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับชำระภาษี (ถ้ามี) ให้ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร | เลขตู้ | : 81/40760 |