เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/6492
วันที่: 20 สิงหาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการอุทธรณ์หนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร (ค.30)
ข้อกฎหมาย : มาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125)ฯ และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
ข้อหารือ            1. นาย หนึ่ง และนาง สอง ได้ร่วมกันซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ในปี 2546 โดยทำสัญญากู้ร่วมจากธนาคาร ต่อมา ปี 2550 นาง สอง.ได้เสียชีวิต นาง ม. มารดาของนาง สองจึงเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกในที่ดินส่วนของนางสาว สอง
           2. เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2552 นาย หนึ่ง และนาง ม.ได้ทำสัญญาขายบ้านพร้อมที่ดินตาม 1. ในนามของนาย หนึ่ง และนาง ม. ให้แก่นาย ช.โดยชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 52,815 บาท และค่าอากรแสตมป์ จำนวน 15,755 บาท
           3. นาย หนึ่งและนาง ม.ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษี (ค.10) ในนามของคณะบุคคลฯ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552 ขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ รวมเป็นเงินจำนวน 68,570 บาท โดยแจ้งมูลเหตุที่ขอคืนว่า เป็นการชำระภาษีอากรไว้โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย (ขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็น ที่อยู่อาศัยแห่งเดิมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย)
           4. สท.กรุงเทพมหานคร 16 ได้มีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร (ค.30) โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546
           5. นาย หนึ่ง ได้มีหนังสือ อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร โดยได้ชี้แจงว่า บ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวนาย หนึ่ง และนาง สอง ได้ร่วมกันซื้อและทำสัญญากู้ยืมจากธนาคาร แต่มีเพียงนาย หนึ่ง เท่านั้นเป็นผู้ผ่อนชำระ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550 นาง สอง ได้เสียชีวิต และการที่ไม่ได้โอนบ้านพร้อมที่ดินหลังที่ซื้อมาดังกล่าวมาเป็นของนาย หนึ่ง เพียงผู้เดียว เนื่องจากไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียมในการโอน และต่อมานาย หนึ่ง ได้ซื้อบ้านหลังใหม่
แนววินิจฉัย            1. กรณีที่นาย หนึ่งและนาง สอง ได้ร่วมกันซื้อบ้านพร้อมที่ดินเมื่อปี 2546 เข้าลักษณเป็นการถือครองอสังหาริมทรัพย์โดยคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ต่อมานาง สอง ได้เสียชีวิตในปี 2550 คณะบุคคลย่อมสิ้นสภาพไป และทรัพย์มรดกของนาง สอง ตกทอดไปยังทายาทโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การที่นาย หนึ่ง ร่วมกับกองมรดกนางสาว สอง ขายบ้านพร้อมที่ดิน จึงเป็นการขายในนามของบุคคลธรรมดาแยกต่างหากจากกัน นาย หนึ่ง และกองมรดกนาง สอง จึงต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่นำเงินได้ที่ได้รับไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของตนเอง ส่วนกรณีของนายหนึ่ง ซึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี และได้ซื้อบ้านแห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน เงินได้ที่นาย หนึ่งฯ ได้รับตามส่วนเฉลี่ยตามส่วนของตนจากการขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าว ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (62) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ประกอบกับข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125 )ฯ ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546
           2. กรณีอากรแสตมป์
                2.1 กรณีที่นาย หนึ่ง ได้ขายบ้านพร้อมที่ดิน (ในส่วนของตน) ซึ่งได้ถือครองเกินกว่า 5 ปี ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น ใบรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เข้าลักษณะเป็นใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้ง สิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้น มีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ตามลักษณะตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ นาย หนึ่งฯ ผู้ออกใบรับจึงต้องเสียอากรแสตมป์และไม่มีสิทธิขอคืนอากรแสตมป์
                2.2 กรณีที่นาง ม. ขายบ้านพร้อมที่ดิน (ในส่วนของนาง สอง อันเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (6) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น ผู้ออกใบรับจึงต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะตราสาร 28. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
           3. เนื่องจากผู้ขอคืนเงินภาษีอากรตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นการขอคืนเงินภาษีอากรในนามของคณะบุคคลฯ จึงถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรผิดหน่วยภาษี จึงไม่อาจคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ให้แก่คณะบุคคลฯ ได้
เลขตู้: 81/40774

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020