เมนูปิด

เลขที่หนังสือ : กค 0702/676
วันที่ : 8 กุมภาพันธ์ 2566
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีของชาวต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 41 มาตรา 50 (1) พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
ข้อหารือ : 1. Mr. A สัญชาติแคนาดา มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศแคนาดา เป็นลูกจ้างของบริษัท B ได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติงานที่ บริษัท ก. (บริษัทฯ) ตั้งแต่ปี 2558 ในตำแหน่งประธาน บริหาร โดยบริษัทฯ ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้ Mr. A ตามใบแจ้งหนี้ที่บริษัท B เรียกเก็บ และบริษัทฯ จะโอนเงินไปยังบริษัท B ที่ประเทศแคนาดา
  2. จากข้อมูลตามหนังสือเดินทางของ Mr. A ในปีภาษี 2559 Mr. A อยู่ในประเทศไทย รวมระยะเวลา 237 วัน
  3. ตามสัญญาจ้างแรงงาน บริษัทฯ ตกลงเป็นฝ่ายจัดหาและออกค่าที่พักอาศัยให้แก่ Mr. A ซึ่งบริษัทฯ ได้นำจำนวนค่าตอบแทนการจ้างงานและค่าที่พักอาศัยดังกล่าวไปคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของ Mr. A พร้อมทั้งหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด. 1 ทุกเดือน รวมถูกหัก ณ ที่จ่าย ในประเทศไทย สำหรับปีภาษี 2559 เป็นจำนวน 1.8 ล้านบาท
  4. บริษัท B ได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับ Mr. A และนำส่งให้กับ สรรพากรของประเทศแคนาดา เป็นจำนวน 2.8 ล้านบาท
  5. Mr. A ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 สำหรับปีภาษี 2559 โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย ได้ทั้งสิ้น 3.2 ล้านบาท และมีภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้รวม 4.6 ล้านบาท ซึ่งในจำนวน 4.6 ล้านบาทนี้ รวมภาษีที่ Mr. A ถูกหักไว้ในประเทศแคนาดาด้วย
  6. ค่าตอบแทนของ Mr. A อยู่ในข่ายอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศ แคนาดา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่ เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศแคนาดาฯ) หรือไม่ หรือต้องคำนวณและนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของ Mr. A อย่างไร
แนววินิจฉัย : 1. ค่าตอบแทนและค่าที่พักอาศัยที่ Mr. A ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งาน ที่ทำในประเทศไทย Mr. A มีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนและค่าที่พักอาศัยนั้นมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยในปีภาษีที่ได้รับเงินได้นั้น ไม่ว่าเงินได้นั้น จะจ่ายในหรือนอกประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่าย ค่าตอบแทนต้องนำค่าตอบแทนและค่าที่พักอาศัย มาถือเป็นเงินได้พึงประเมินแล้วคำนวณ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
  2. ในปีภาษี 2559 Mr. A อยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 237 วัน จึงถือว่า Mr. A เป็นผู้มีถิ่น ที่อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 4 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศแคนาดาฯ ดังนั้น ค่าตอบแทนการจ้างงาน และค่าที่พักอาศัยในส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานในประเทศไทย ซึ่งเข้าลักษณะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนอื่นที่คล้ายคลึงกันที่ผู้มีเงินได้ได้รับในส่วนที่เกี่ยวกับการทำงาน ตามข้อ 15 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศแคนาดาฯ Mr. A จะต้องเสียภาษีในประเทศไทย อันเป็นประเทศถิ่นที่อยู่ของ Mr. A เท่านั้น Mr. A จึงไม่สามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้ที่ประเทศแคนาดามาขอเครดิตภาษีในประเทศไทยได้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ประกอบกับข้อ 15 วรรคหนึ่ง และข้อ 22 แห่งอนุสัญญาระหว่าง ประเทศไทยกับประเทศแคนาดาฯ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 06-07-2023