เลขที่หนังสือ | : กค 0702/1905 |
วันที่ | : 5 เมษายน 2566 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามคำพิพากษา |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 39 มาตรา 50 (5) (6) มาตรา 91/2 (6) และตราสาร 28 (ข) บัญชีอัตราอากรแสตมป์ |
ข้อหารือ | : กรมที่ดิน ได้ขอหารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และ อากรแสตมป์ กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามคำพิพากษา มีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้ 1. นางสาว ก. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาว ข. ได้เป็นโจทก์ฟ้องนาย A. จำเลย ที่ 1 นาง B. จำเลยที่ 2 และนางสาว C. จำเลยที่ 3 ต่อศาลจังหวัดเพื่อขอให้เพิกถอน นิติกรรมการโอนที่ดินจำนวน 5 โฉนด พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ นางสาว ข. ไปเป็นของจำเลยทั้งสามโดยมิชอบด้วยกฎหมายคืนให้กับกองมรดกของ นางสาว ข. และคู่ความได้ตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจังหวัดได้มี คำพิพากษาตามยอม ให้จำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 5 แปลง พร้อมทั้ง สิ่งปลูกสร้าง คืนให้กับกองมรดกของนางสาว ข. ตามคดีหมายเลขแดงที่ 00/2559 2. นางสาว ก. ได้นำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว มายื่นคำขอจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 5 แปลงดังกล่าว พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีชื่อ นาง B. และนางสาว C. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ให้แก่นางสาว ก. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ นางสาว ข. ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน 3. กรมที่ดินเห็นว่า ในการรับจดทะเบียนเพื่อเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนตามคำพิพากษา ของศาล กรณีดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินจะรับจดทะเบียนในประเภทโอนตามคำสั่งศาล (ตามคำพิพากษาตามยอม) การที่นาง B. และนางสาว C. โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่นางสาว ก. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาว ข. จึงไม่ใช่เป็นกรณีการโอนมรดก หรือให้ระหว่างผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดาน จึงต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมในอัตราร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ 4. กรมที่ดินขอหารือ ดังนี้ 4.1 การที่นาง B. และนางสาว C. จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างให้แก่นางสาว ก. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาว ข. ตามสัญญา ประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัด คดีหมายเลข แดงที่ 00/2559 เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนสู่กองมรดกตามเดิม โดยศาลมี คำพิพากษาตามยอมให้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืนสู่กองมรดก พนักงานเจ้าหน้าที่ จะต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ และ อากรแสตมป์ หรือไม่ 4.2 การที่นางสาว ก. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาว ข. จะจดทะเบียนโอน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลซึ่งเป็นทายาทของนางสาว ข. ตามสัญญา ประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัด คดีหมายเลข แดงที่ 00/2559 พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีที่ศาลจังหวัดได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 00/2559 โดยพิพากษาตามสัญญา ประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสาม โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 5 โฉนด พร้อมทั้ง สิ่งปลูกสร้าง ให้กลับคืนสู่กองมรดกของนางสาว ข. ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นการ เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเพื่อให้ทรัพย์กลับคืนสู่กองมรดก ไม่ถือเป็นการขาย ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (5) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่เข้าลักษณะเป็นการขาย ตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) ใบรับ แห่งบัญชีอัตรา อากรแสตมป์ แต่อย่างใด 2. กรณีที่นางสาว ก. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาว ข. จะจดทะเบียนโอนที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลที่เป็นทายาทของนางสาว ข. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดดังกล่าว ถือเป็นการโอนอสังหาริมทรัพย์โดยทาง มรดกให้แก่ทายาท ดังนั้น 2.1 การโอนโดยทางมรดกให้แก่ทายาทซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใน อสังหาริมทรัพย์ ไม่เข้าลักษณะเป็นการ “ขาย” ตามคำนิยามในมาตรา 39 แห่งประมวล รัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (6) แห่งประมวลรัษฎากร 2.2 ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร จึงได้รับ ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ มาตรา 4 (6) (จ) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 3. กรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกให้แก่ทายาท โดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม เป็นการได้ทรัพย์มรดกโดยผลของ กฎหมาย มิได้เป็นการจดทะเบียนโอนหรือก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การจดทะเบียนการโอนมรดกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินก็เพื่อยกขึ้น เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกตามมาตรา 1299 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์เท่านั้น จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) ใบรับ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ |