เมนูปิด

เลขที่หนังสือ : กค 0702/2907
วันที่ : 25 พฤษภาคม 2566
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการนับรอบระยะเวลาบัญชี
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 มาตรา 68 มาตรา 69 และมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ : กรณีบริษัท ก. จดทะเบียนนิติบุคคคล มีรายได้ แต่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และไม่ปรากฏรอบระยะเวลาบัญชี จะนับรอบระยะเวลาบัญชีอย่างไร และกรณีบริษัท ก. ไม่ยื่นรายการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัท ก. อย่างไร
แนววินิจฉัย : กฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลต้องมีรอบระยะเวลาบัญชีครบ 12 เดือน กรณีบริษัท ก. มีการจดทะเบียนนิติบุคคลโดยไม่ปรากฏการแสดงเจตนาที่จะกำหนดวันสุดท้ายหรือวันปิดรอบระยะเวลาบัญชีแรกไว้ กรณีจึงต้องถือว่ารอบระยะเวลาบัญชีแรกของบริษัท ก. คือ วันเริ่มต้นจดทะเบียนนิติบุคคลนับไปจนครบ 12 เดือน และรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปจะสิ้นสุดทุกรอบ 12 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดของรอบระยะเวลาบัญชีรอบก่อน เว้นแต่จะมีการยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงรอบระยะเวลาบัญชีต่ออธิบดีกรมสรรพากร หรือสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชี แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามมาตรา 1196 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543
  กรณีบริษัท ก. ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ภายในระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร หากเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกเพื่อทำการตรวจสอบภาษีอากรตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งสั่งให้บริษัท ก. นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบแล้ว แต่บริษัท ก. ไม่นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานประกอบการลงบัญชีมามอบให้เจ้าพนักงานตามหมายเรียก เจ้าพนักงานประเมิน ย่อมมีอำนาจประเมินภาษีโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้

 

ปรับปรุงล่าสุด: 18-07-2023