เลขที่หนังสือ | : กค 0702/2535 |
วันที่ | : 10 พฤษภาคม 2566 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยกเว้นเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 86/4, กฎกระทรวง ฉบับที่ 368ฯ , ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 390)ฯ |
ข้อหารือ | : 1. บริษัท ก. ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่าง ๆ ให้แก่ลูกค้าแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (Omnibus Account) เมื่อลูกค้าต้องการซื้อหรือขายหน่วยลงทุน ลูกค้าจะส่งคำสั่งซื้อหรือขายหน่วยลงทุนให้บริษัท ก. และบริษัท ก. จะส่งคำสั่งซื้อหรือขายหน่วยลงทุนดังกล่าวในนาม “บริษัท ก. เพื่อลูกค้า” ไปยัง บลจ. เมื่อ บลจ. ได้รับคำสั่งซื้อหรือขายดังกล่าวแล้ว บลจ. ได้ออกใบกำกับภาษีระบุเลขที่บัญชีหน่วยลงทุนของบริษัท ก. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัท ก. รหัสบัญชีของลูกค้า เพื่อแยกว่าเป็นการลงทุนของลูกค้ารายใดภายใต้บัญชี “บริษัท ก. เพื่อลูกค้า” ให้บริษัท ก. ซึ่งบริษัท ก. ไม่ได้นำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปใช้เป็นใบกำกับภาษีซื้อแต่อย่างใด 2. ในการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนของลูกค้า บริษัท ก. จะเรียกเก็บเงินค่าซื้อหน่วยลงทุน และค่าบริการซึ่งประกอบด้วยค่าธรรมเนียมและภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าแล้วนำส่งให้ บลจ. ทั้งหมด และบริษัท ก. จึงออกหนังสือรับรองสิทธิในหน่วยลงทุนและหรือใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม (หนังสือรับรองสิทธิฯ) ให้ลูกค้าแต่ละราย โดยระบุเลขบัญชีลูกค้า ชื่อลูกค้า ชื่อกองทุน ชื่อ บลจ. จำนวนเงิน ราคาต่อหน่วย จำนวนหน่วย และค่าธรรมเนียมที่ชำระ บริษัท ก. หารือว่า กรณีที่บริษัท ก. ออกหนังสือรับรองสิทธิฯ ให้ลูกค้านั้น ลูกค้าสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานการขอยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 368ฯ ได้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินสามหมื่นบาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 368ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 390)ฯ ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563 นั้น จะต้องเป็นการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าและค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กรณีบริษัท ก. ออกหนังสือรับรองสิทธิฯ ซึ่งมีรายละเอียดและมูลค่าการซื้อหน่วยลงทุนของลูกค้า และอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าบริการซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากลูกค้าโดยระบุมูลค่าภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ด้วย หนังสือรับรองสิทธิฯ ดังกล่าวยังไม่เข้าลักษณะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปซึ่งต้องมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 368ฯ ลูกค้าของบริษัท ก. จึงไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด |