เมนูปิด

เลขที่หนังสือ : กค 0702/3935
วันที่ : 13 กรกฎาคม 2566
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย : - มาตรา 6 (37) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
  - ข้อ 2 (62) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ
  - ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 50)ฯ
  - ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125)ฯ
ข้อหารือ : ในปี 2555 นาย ก. ได้ซื้อบ้านพร้อมที่ดิน (อสังหาริมทรัพย์) ตามโฉนดที่ดินเลขที่ A ต่อมาในปี 2559 นาย ก. ได้ขายบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งกรมที่ดินได้เรียกเก็บภาษีเงินได้และอากรแสตมป์ พร้อมทั้งได้ซื้อบ้านหลังใหม่ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ B ในปีเดียวกัน โดยย้ายทะเบียนบ้านเข้ามายังบ้านหลังใหม่อีกด้วย ดังนั้น การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ เนื่องจากได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้และอากรแสตมป์ อันเนื่องมาจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้น ต้องขอคืนภายในอายุความเท่าใด
แนววินิจฉัย : กรณี นาย ก. ได้ขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิม โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับมาซึ่งกรรมสิทธิ์ หรือได้สิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว และได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิม โดยย้ายทะเบียนบ้านเดิมและเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านหลังใหม่ นาย ก. จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และอากรแสตมป์ ดังต่อไปนี้
  1. กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นาย ก. ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญแห่งเดิม แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนตามข้อ 2 (62) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546 ดังนั้น เมื่อกรมที่ดินได้หักภาษีเงินได้ไว้ ณ วันที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จึงเป็นการเสียภาษีไว้โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย นาย ก. ต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ตามมาตรา 63 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
  2. กรณีอากรแสตมป์ นาย ก. ได้รับยกเว้นเท่ากับค่าอากรแสตมป์ที่คำนวณได้จากจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิม แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ตามมาตรา 6 (37) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 444) พ.ศ. 2548 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 50) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับรายรับจากการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2548 เมื่อนาย ก. เสียอากรแสตมป์สำหรับใบรับที่เกิดจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ เป็นการเสียอากรแสตมป์โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ดังนั้น นาย ก. ต้องยื่นคำร้องขอคืนค่าอากรภายใน 10 ปี นับแต่วันเสียค่าอากรแสตมป์ตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-08-2023