เมนูปิด

เลขที่หนังสือ : กค 0702/4825
วันที่ : 28 สิงหาคม 2566
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีของบริษัทที่จดแจ้ง
ข้อกฎหมาย : พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุน การปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595)
ข้อหารือ : ห้างฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2521 ทุนจดทะเบียน 30,000,000 บาท ลดทุนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2543 เหลือทุนจดทะเบียน 13,000,000 บาท และลดทุนครั้งที่ 2 ในวันเดียวกัน คงเหลือทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท และไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการในปีใดปีหนึ่งเกิน 30,000,000 บาท ห้างฯ ได้จดแจ้งตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกินห้าล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกินสามสิบล้านบาท ห้างฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2559 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 ห้างฯ จะได้รับสิทธิยกเว้นจากการตรวจสอบไต่สวนประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และไม่ถูกเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร หรือไม่
แนววินิจฉัย : 1. การได้รับสิทธิลดอัตราและยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 มีเงื่อนไขว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้ จะต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เกินสามสิบล้านบาท โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป”
    2. การได้รับสิทธิลดอัตราและการยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 มีเงื่อนไขว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้ จะต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เกินสามสิบล้านบาท และได้จดแจ้งเป็นผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร และไม่ถูกเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการ เกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร”
    3. กรณีตามมาตรา 6 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 กำหนดคุณสมบัติของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้จะต้องไม่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินห้าล้านบาท ซึ่งการพิจารณาว่าจะเริ่มนับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีใดนั้น เห็นว่า ควรเริ่มต้นนับจากรอบระยะเวลาบัญชีที่กฎหมายกำหนดให้การลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิ ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท มีผลบังคับใช้ ซึ่งหมายถึงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีตาม 1. เป็นต้นไป
    4. กรณีห้างฯ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2521 มีทุนจดทะเบียนเป็นจำนวน 30,000,000 บาท และต่อมาได้มีการลดทุนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2543 คงเหลือทุนจดทะเบียน 13,000,000 บาท และลดทุนครั้งที่ 2 ในวันเดียวกัน คงเหลือทุนจดทะเบียน เป็นจำนวน 5,000,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2543 กรณีดังกล่าวถือได้ว่าห้างฯ มีทุนจดทะเบียนจำนวน 5,000,000 บาท นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนลดทุนนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ห้างฯ ไม่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินห้าล้านบาท และไม่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันรอบใดเกินสามสิบล้านบาท ประกอบกับห้างฯ ได้ทำการจดแจ้งเป็นผู้ประกอบการตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุน การปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร และไม่ถูกเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าว ห้างฯ ย่อมเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 มีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-09-2023