เมนูปิด

เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./1887
วันที่ : 4 เมษายน 2566
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้ประกอบการส่งออกที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0
ข้อกฎหมาย : มาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (4) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 97/2543ฯ ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2543
ข้อหารือ : เจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัท ปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้
  1. บริษัทเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการนำเข้า ส่งออกสินค้า โดยบริษัทซื้อและนำเข้าสินค้าจากบริษัท A ซึ่งอยู่ต่างประเทศ โดยผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้ว ต่อมาบริษัทได้ขายและส่งออกสินค้าดังกล่าวไปให้บริษัท B ที่ต่างประเทศ ขนส่งโดยทางเรือ และให้บริษัทชิ้ปปิ้ง ดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อส่งออกในนามของบริษัท สำหรับการจ่ายชำระค่าสินค้าให้กับบริษัท A ตลอดจนรับชำระค่าสินค้าจากบริษัท B ที่ต่างประเทศ บริษัทรับและจ่ายเงินผ่านบัญชีของบริษัท ก ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
  2. เจ้าพนักงานประเมินขอให้บริษัทชี้แจงในประเด็นที่บริษัทไม่ได้รับและจ่ายเงินค่าสินค้าด้วยตนเอง แต่รับและจ่ายเงินผ่านบัญชีของบริษัท ก ซึ่งบริษัทได้ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า นายมีนาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัท ก เมื่อปี 2563 และเป็นผู้มีอำนาจเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของบริษัท ก ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายสินค้ากับบริษัท B ต่อมา นายมีนา ขัดแย้งกับกรรมการคนอื่นในบริษัท ก จึงได้มาร่วมกับนางสาวกันยา จดทะเบียนและประกอบกิจการในนามของบริษัท และนายมีนาได้ทำข้อตกลงกับบริษัท B โดยตกลงให้บริษัท เข้าแทนที่บริษัท ก ในฐานะผู้ขายสินค้าให้แก่บริษัท B ต่อไป ดังนั้น ในการจ่ายชำระค่าสินค้าให้แก่ บริษัท A ที่ประเทศต่างประเทศ ตลอดจนรับชำระค่าสินค้าจากบริษัท B (ผู้ซื้อ) จึงได้กระทำผ่านบัญชีธนาคารของบริษัท ก แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้กระทำผ่านบัญชีของบริษัท แล้ว และบริษัท กับบริษัท ก ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันแต่อย่างใด
  จึงขอหารือว่า ตามข้อ 2 (4) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 97/2543ฯ ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ที่กำหนดหลักเกณฑ์กรณีผู้ประกอบการส่งออกต้องมีหลักฐานที่แสดงว่ามีการชำระราคาสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C หรือหลักฐานการจัดทำ T/T หรือ T/P เป็นต้น แต่กรณีที่บริษัทได้รับชำระค่าสินค้าผ่านบัญชีของบุคคลอื่น โดยบริษัทไม่ได้เป็นตัวแทนหรือมีความสัมพันธ์กับบริษัทเจ้าของบัญชีที่รับโอนเงินค่าสินค้านั้น จะถือว่าบริษัทเป็นผู้ส่งออกตามหลักเกณฑ์การส่งออกสินค้าซึ่งจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย : กรณีบริษัทขายและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ จะถือว่าเข้าลักษณะเป็นผู้ส่งออกตามมาตรา 77/1 (13) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น กรมสรรพากรได้วางแนวทางการตรวจสอบให้แก่เจ้าพนักงานประเมินเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติไว้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.97/2543ฯ ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินสามารถตรวจสอบจากเอกสารหลักฐานตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าวได้ ดังนั้น กรณีที่บริษัทได้แสดงหลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าและขาออก ตลอดจนใบกำกับสินค้า (Invoice) ต่อเจ้าพนักงานแล้ว แต่ปรากฏหลักฐานการโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าที่ได้กระทำผ่านบัญชีของบริษัทอื่น หากบริษัท มีเอกสารอื่นใดมายืนยันกับเจ้าพนักงานประเมินว่า บริษัทเป็นผู้ขายและส่งออกจริง บริษัท ย่อมได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 06-10-2023