เมนูปิด

เลขที่หนังสือ : กค 0702/2158
วันที่ : 21 เมษายน 2566
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
ข้อกฎหมาย : มาตรา 27 มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528
ข้อหารือ : นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (หน่วยลงทุน RMF) กองทุนเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2561
ปีจำนวนเงินที่ลงทุนในหน่วยลงทุน RMF
(บาท)
ผลประโยชน์เพิ่มเติมแต่ละปี
(บาท)
2557100,000.001,000.00
2558150,000.009,000.00
2559200,000.0012,000.00
2560250,000.0024,000.00
2561300,000.0024,000.00
รวมเงินลงทุนและผลประโยชน์สะสมในกองทุน RMF1,000,000.0070,000.00


    ในปี 2562 นาย ก. มีอายุต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ได้ดำเนินการทำธุรกรรมเกี่ยวกับหน่วยลงทุน RMF ในกองทุนเดิม จำนวน 4 ครั้ง ดังนี้
วันที่รายการจำนวนเงินสุทธิ
(บาท)
ต้นทุน
(บาท)
ผลประโยชน์เพิ่มเติม
(บาท)
หมายเหตุ
8 ม.ค.62ขาย100,000.0090,000.00
(ส่วนของปี 2557–2561)
10,000.00ขายคืนหน่วยลงทุน RMF บางส่วน ไม่เกินจำนวนหน่วยลงทุนและผลประโยชน์เพิ่มที่มีอยู่ก่อนปี 2562
9 ม.ค.62ซื้อ200,000.00200,000.00- 
29 ต.ค.62ขาย970,000.0090,000.00
(ส่วนของปี 2557–2561)
60,000.00ขายคืนหน่วยลงทุน RMF บางส่วน ไม่เกินจำนวนหน่วยลงทุนและผลประโยชน์เพิ่มที่มีอยู่ก่อนปี 2562
3 พ.ย.62ซื้อ100,000.00100,000.00- 


    การทำธุรกรรมเกี่ยวกับหน่วยลงทุน RMF ของนาย ก. นั้น บริษัทมีระบบที่สามารถแยกได้ว่า ต้นทุนและผลประโยชน์ของหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าว คือเท่าใด เช่น วันที่ 8 มกราคม 2562 และวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ที่นาย ก. ทำการขายหน่วยลงทุนจำนวน 100,000 บาท และจำนวน 970,000 บาท ตามลำดับ เป็นส่วนของต้นทุนจำนวน 90,000 บาท และจำนวน 910,000 บาท ตามลำดับ ดังนั้น บริษัทสามารถทราบได้ว่า หน่วยลงทุน RMF ที่นาย ก. มีคำสั่งขายในปี 2562 เป็นการขายหน่วยลงทุน RMF ที่มีการซื้อมาก่อนปี 2562 (หน่วยลงทุน RMF และผลประโยชน์สะสมที่ยกมาเป็นของปี 2557 ถึงปี 2561) บริษัทได้หารือ ดังนี้
    1. การคำนวณยอดซื้อหน่วยลงทุน RMF ประจำปี 2562 ของนาย ก. ที่สามารถนำไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เป็นจำนวนเงินเท่าใด ระหว่าง
        1.1 ผลรวมของยอดซื้อหน่วยลงทุน RMF ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปี 2562 (รายการซื้อของวันที่ 9 มกราคม 2562 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562) รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 300,000 บาท เนื่องจากยอดขายคืนหน่วยลงทุน RMF ที่เกิดขึ้นในปี 2562 (รายการขายวันที่ 8 มกราคม 2562 และวันที่ 29 ตุลาคม 2562) มีจำนวนไม่เกินเงินที่ลงทุนก่อนปี 2562 หรือ
        1.2 เฉพาะยอดซื้อหน่วยลงทุน RMF ที่เกิดขึ้นภายหลังการขายครั้งสุดท้ายในปีภาษีเดียวกัน (รายการซื้อของวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562) จำนวน 100,000 บาท เนื่องจากการทยอยขายหน่วยลงทุน RMF ในปีก่อนหน้านั้น ถือเป็นการขายคืนแบบผิดเงื่อนไข แม้การขายคืนจากเฉพาะส่วนที่ซื้อมาก่อนปี 2562
    2. หากจำนวนเงินค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ที่นาย ก. สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปี 2562 ได้นั้น มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 300,000 บาท ตามข้อ 1 (1) กรณีนี้ บริษัทสามารถแสดงจำนวนเงิน 300,000 บาท ในช่อง “เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนสุทธิในกองทุนรวมในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประจำปี 2562 จำนวนเงิน 300,000 บาท” ในหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุน ได้หรือไม่
    3. หากจำนวนเงินค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ที่นาย ก. สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปี 2562 ได้นั้น มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 100,000 บาท ตามข้อ 1 (2) กรณีนี้ บริษัทสามารถแสดงจำนวนเงิน 100,000 บาท ในช่อง “เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนสุทธิในกองทุนรวมในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประจำปี 2562 จำนวนเงิน 100,000 บาท” ในหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุน ได้หรือไม่
    4. ตามข้อเท็จจริง นาย ก. มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม เพื่อชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมด้วยเงินเพิ่มสำหรับจำนวนภาษีที่ชำระขาดไปเนื่องจากการใช้สิทธิลดหย่อนเงินค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ที่ผิดเงื่อนไข การขายคืนก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2561 (ปี 2562 ยังไม่ได้นำไปใช้สิทธิลดหย่อนจึงไม่ถือว่าผิดเงื่อนไขที่ต้องชำระภาษีเพิ่ม) ใช่หรือไม่
    5. ตามข้อเท็จจริง หากในขณะที่ทำการขายหน่วยลงทุนครั้งแรกในวันที่ 8 มกราคม 2562 นั้น นาย ก. ถือครองหน่วยลงทุน RMF น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก กรณีนี้ นาย ก. มีหน้าที่ต้องนำผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนในวันที่ 8 มกราคม 2562 และ 29 ตุลาคม 2562 จำนวน 10,000 บาท และจำนวน 60,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 70,000 บาท ไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2562 โดยบริษัทมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อทำการจ่ายผลประโยชน์เพิ่มเติมตามอัตราก้าวหน้าให้แก่ นาย ก. ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย : 1. กรณีตามข้อ 1 – 3 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2561 และต่อมาในปี 2562 นาย ก. ได้ขายคืนหน่วยลงทุน RMF เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562และวันที่ 29 ตุลาคม 2562 และได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 รวมจำนวน 300,000 บาท หากกรณีดังกล่าวพิสูจน์ได้ว่าหน่วยลงทุน RMF ที่นาย ก. ขายคืนนั้น เป็นหน่วยลงทุน RMF เฉพาะส่วนที่นาย ก. ซื้อไว้ก่อนปี 2562 และไม่เกินจำนวนเงินลงทุนที่มีอยู่ก่อนปี 2562 แล้ว หน่วยลงทุน RMF ที่นาย ก. ได้ซื้อใหม่ในปี 2562 จำนวน 2 ครั้ง รวมเป็นจำนวนเงิน 300,000 บาทดังกล่าว จึงเป็นยอดซื้อหน่วยลงทุน RMF ที่นาย ก. สามารถนำไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2562 ได้ โดยบริษัทจะต้องออกหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ให้แก่ นาย ก. โดยแสดงจำนวนเงินซื้อหน่วยลงทุนสุทธิในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพประจำปี 2562 จำนวนเงิน 300,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนหน่วยลงทุน RMF ที่นาย ก. ได้ซื้อทั้งหมดในปี 2562
    2. กรณีตามข้อ 4 การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF นั้น นาย ก. จะต้องถือหน่วยลงทุน RMF ที่ซื้อใหม่ดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งใหม่ โดยต้องซื้อหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน และขณะไถ่ถอนหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าว นาย ก. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (55) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551
    สำหรับหน่วยลงทุน RMF ที่นาย ก. ซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2561 หากข้อเท็จจริงปรากฏว่านาย ก. ขายหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าว ในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ย่อมไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในข้อ 2 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171)ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ดังนั้น เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าวจึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนาย ก. ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วที่อยู่ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้น ๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมกรณีนี้ภายในเดือนมีนาคมของปีที่ถัดจากปีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามข้อ 9 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171)ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551
    3. กรณีตามข้อ 5 การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน RMF นั้น ผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก ตามข้อ 2 (65) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 170) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ดังนั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการขายหน่วยลงทุน RMF ของนาย ก. นั้น เป็นการขายก่อนที่จะครบกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกแล้ว ย่อมถือว่านาย ก. ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่นาย ก. ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุน RMF ในกรณีดังกล่าวก็จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยนาย ก. จะต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2562 และกรณีดังกล่าวบริษัทมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน RMF ที่บริษัทจ่ายให้แก่นาย ก. กรณีที่นาย ก. ขายหน่วยลงทุน RMF ผิดเงื่อนไข โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
        3.1 กรณีผลประโยชน์จากการขายหน่วยลงทุนที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ถือว่าผลประโยชน์จากการขายหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีที่นาย ก. ขายหน่วยลงทุนเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 จำนวน 10,000 บาท บริษัทต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 104/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544
        3.2 กรณีผลประโยชน์จากการขายหน่วยลงทุนที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ถือว่าผลประโยชน์จากการขายหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ดังนั้น กรณีที่นาย ก. ขายหน่วยลงทุนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 จำนวน 60,000 บาท บริษัทต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 06-10-2023