เมนูปิด

เลขที่หนังสือ : กค 0702/5461
วันที่ : 25 กันยายน 2566
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 42 (17), มาตรา 47 (1) (ก), มาตรา 47 (1) (ข), มาตรา 47 (1) (ญ), มาตรา 50 (1), ข้อ 2 (36) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136)ฯ และ (ฉบับที่ 223)ฯ
ข้อหารือ : 1. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (สมาชิกกองทุนฯ) ได้รับเป็นรายงวดจากกองทุนฯ ด้วยเหตุเกษียณอายุ หรือออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ และได้เป็นสมาชิกกองทุนฯ มาโดยตลอดถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ อย่างไร และการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ดังกล่าว จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร
   2. สามี ภรรยาหรือบุตรของสมาชิกกองทุนฯ ที่ได้รับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ตาม 1. จะหักลดหย่อนสมาชิกกองทุนฯ ในฐานะสามี ภริยาหรือค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาแล้วแต่กรณี ได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย : 1. กรณีตาม 1. หากเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่สมาชิกกองทุนฯ ได้รับจากกองทุนฯ เป็นรายงวด เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยการเกษียณอายุหรือการออกจากงานตามข้อบังคับกำหนดว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์และเป็นสมาชิกของกองทุนฯ มาโดยตลอดไม่น้อยกว่า 5 ปี ต่อเนื่องกัน หากเป็นสมาชิกยังไม่ถึง 5 ปี ต่อเนื่องกัน ต้องเป็นสมาชิกไปจนมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปี ต่อเนื่องกัน เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ดังกล่าวย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ และข้อ 3 ข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 223)ฯ ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ดังนี้ กองทุนฯ ผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
   2. กรณีตาม 2. แยกพิจารณา ดังนี้
     2.1 กรณีการหักลดหย่อนสำหรับสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 47 (1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีสามีหรือภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ การหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (ก) และมาตรา 47 (1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ 120,000 บาท ดังนั้น หากสามีหรือภริยาซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฯ ได้รับเงินหรือผลประโยชน์เป็นรายงวดจากกองทุนฯ ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และไม่มีเงินได้อื่นซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีดังกล่าวสามีหรือภริยาของสมาชิกกองทุนฯ สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนสามีหรือภริยาได้ ตามมาตรา 47 (1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
     2.2 กรณีการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฯ ตามมาตรา 47 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากบิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่หักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท ไม่ว่าเงินได้นั้นจะเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 47 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136)ฯ ลงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2548 มิได้กำหนดว่าเงินได้พึงประเมินนั้น ต้องมิใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีดังเช่น มาตรา 47 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากสมาชิกกองทุนฯ ได้รับเงินหรือผลประโยชน์จากกองทุนฯ เกิน 30,000 บาท บุตรของสมาชิกกองทุนฯ ดังกล่าว ไม่มีสิทธินำค่าอุปการะเลี้ยงดูมาหักลดหย่อนในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด ตามมาตรา 47 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136)ฯ ลงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2548

 

ปรับปรุงล่าสุด: 03-11-2023