เมนูปิด

เลขที่หนังสือ : กค 0702/388
วันที่ : 23 มกราคม 2566
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินชดเชยที่ได้รับเนื่องจากพ้นสภาพการเป็นพนักงาน
ข้อกฎหมาย : ข้อ 2 (51) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ฯ และมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1 (ง) และข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535
ข้อหารือ : เมื่อพนักงานพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัท เนื่องจากความจำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการขององค์กร เพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ บริษัทได้จ่ายเงิน ให้พนักงานที่ปฏิบัติงานเกิน 20 ปี เป็นจำนวน 400 วัน หรือเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โดยระบุในเอกสารหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ว่า “เงินตอบแทนความชอบ/เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ฯลฯ” ทั้งนี้ บริษัทขอผ่อนจ่าย 12 เดือน พนักงาน ของบริษัทจึงหารือว่า เงินที่ได้รับดังกล่าวจะนำไปคำนวณในใบแนบ ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ ในข้อ ก 3. (เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน) และมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีสำหรับส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาท ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย : กรณีบริษัทเลิกจ้างพนักงานเนื่องจากมีการปรับโครงสร้างองค์กรโดยพนักงานได้แสดงเจตนาเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เงินค่าตอบแทนที่พนักงาน ได้รับเนื่องจากพ้นสภาพการ เป็นพนักงานดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินชดเชยการเลิกจ้างตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงไม่ได้รับยกเว้นตามข้อ 2 (51) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ฯ แต่เข้าลักษณะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกที่จะเสียภาษีเฉพาะเงินค่าตอบแทนที่ได้รับในปีภาษีแรก ที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าว ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1 (ง) และข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-11-2023