เลขที่หนังสือ | : กค 0702/393 |
วันที่ | : 23 มกราคม 2566 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกองทุนรวมโอนขายอสังหาริมทรัพย์ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40 (4) (ก) มาตรา 40 (8) มาตรา 65 ทวิ (15) และมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : สำนักงานที่ดินได้หารือเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้ของกองทุนรวม โดยกองทุนรวมได้ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทแบ่งคืนให้ผู้ถือหุ้นให้กับธนาคาร เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เพื่อจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับห้องชุด ระหว่างกองทุนรวม ผู้โอน กับธนาคาร ผู้รับโอน เป็นการโอนแบ่งคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนในฐานะที่เป็นผู้ถือหน่วยกองทุนรวมฯ ตามข้อ 5 (7) ของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน.76/2552 ประกาศวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ซึ่งกองทุนรวมได้ครบกำหนดอายุโครงการแล้ว และอยู่ในระหว่างการชำระบัญชี โดยกองทุนรวมอ้างกับเจ้าพนักงานที่ดินว่าการจดทะเบียนประเภทดังกล่าว กองทุนรวมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 65 ทวิ (15) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวมไม่ต้องนำรายได้อันมิใช่เงินได้ ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณเป็นรายได้ |
แนววินิจฉัย | : กองทุนรวมเข้าลักษณะเป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ตามคำนิยามในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อกองทุนรวมได้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่ธนาคารถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร กองทุนรวมไม่มีหน้าที่ต้องนำรายได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ (15) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด |