เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/6442
วันที่ :   8 พฤศจิกายน 2566
เรื่อง :   ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 40 (1) และมาตรา 48 (1) (2) และ (5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ :   นาย ก. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2561 ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 แสดงรายการเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ซึ่งมีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานจากบริษัท A และบริษัท B โดยนาย ก. ได้นำเฉพาะส่วนที่ได้รับจากบริษัท A เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร และมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมจำนวน 532,027.03 บาท ส่วนปีภาษี 2562 ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 แสดงรายการเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ซึ่งมีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่ได้รับจากบริษัท C และได้รับจากบริษัท D นาย ก. เลือกเสียภาษีโดยไม่นำเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน จากบริษัท C และบริษัท D ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกินจำนวน 98,551.53 บาท จึงขอหารือว่า
    1. นาย ก. จะเลือกเสียภาษีโดยไม่นำเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานในปี 2562 ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้จากเงินเดือน ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ได้หรือไม่ เนื่องจากนาย ก. ได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่นำเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้จากเงินเดือน ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ไว้แล้วในปีภาษี 2561
    2. หากสามารถเลือกเสียภาษีโดยไม่นำเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้จากเงินเดือน ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ การคำนวณค่าใช้จ่ายในแบบ ภ.ง.ด.91 ต้องใช้เงินเดือนเดือนสุดท้าย และอายุงานจากนายจ้างแห่งใด
แนววินิจฉัย :   1. กรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการคำนวณบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และผู้มีเงินได้มีระยะเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น ไม่ว่าจะจ่ายหรือแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท ทั้งนี้ ตามข้อ 1 (ง) และข้อ 2 (ก) และ (ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535
    2. ในปี 2561 นาย ก. ได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานจากบริษัท A และบริษัท B และในปี 2562 ได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานจากบริษัท C และบริษัท D กรณีจึงเป็นเงินได้ที่ได้รับจากนายจ้างต่างรายโดยได้รับทั้งในปีภาษีเดียวกันและต่างปีภาษีกัน ดังนั้น นาย ก. จะนำเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่ได้รับในปีภาษี 2561 และปีภาษี 2562 มาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ ทั้งนี้ เนี่องจากเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานดังกล่าว เป็นเงินได้ที่จ่ายให้เนื่องจากนาย ก. ออกจากงานที่มีระยะเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าว และนาย ก. มีสิทธิเลือกไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
    3. การคำนวณค่าใช้จ่าย กรณีนาย ก. ได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานจากนายจ้างต่างรายกันในปีภาษี 2562 และเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ดำเนินการนำเงินได้พึงประเมินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่ได้รับจากนายจ้างทั้งสองรายมารวมกัน และคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์การคำนวณหักค่าใช้จ่ายที่กำหนดในมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร หากเงินได้พึงประเมินนี้รวมกันแล้วไม่เกินกว่าจำนวนเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงานกับนายจ้างแต่ละรายและนำมารวมกัน ให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสียภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ทั้งจำนวน ในกรณีรวมกันแล้วมีจำนวนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ดังกล่าวให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าจำนวนเงินเดือน เดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงานกับนายจ้างแต่ละรายและนำมารวมกัน หักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่ากับ 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน (สำหรับจำนวนปีที่ทำงานให้ถือจำนวนปีที่ทำงานกับนายจ้างในรายที่มีจำนวนปีที่ทำงานมากที่สุด) เหลือเท่าใดให้หักค่าใช้จ่ายอีกร้อยละ 50 ของเงินที่เหลือนั้นแล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 5 วรรคสอง และข้อ 3 (2) และวรรคสอง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535

 

ปรับปรุงล่าสุด: 29-11-2023