เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/6816
วันที่ :   24 พฤศจิกายน 2566
เรื่อง :   ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการโรงพยาบาลสัตว์
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 77/1 (10) มาตรา 77/2 และมาตรา 81 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ :   บริษัทประกอบกิจการโรงพยาบาลสัตว์ให้บริการเป็นสถานรักษาสัตว์ ได้มีการสั่งซื้อยาเพื่อมาใช้รักษาสัตว์ เมื่อบริษัทฯ คิดค่ารักษาสัตว์กับลูกค้า บริษัทฯ ได้แยกค่ายากับค่าบริการรักษาสัตว์ออกจากกัน บริษัทจึงขอหารือว่า
    1. บริษัทจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะค่ารักษาสัตว์ แต่จะไม่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่ายาที่ใช้รักษาสัตว์ ถูกต้องหรือไม่
    2. ค่าเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับการรักษาสัตว์ เช่น น้ำยาล้างแผล แอลกอฮอล์ น้ำเกลือ เป็นต้น บริษัทจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าหรือไม่
    3. ค่าเวชภัณฑ์ที่ใช้สำหรับรักษาสัตว์ เช่น สำลี สายน้ำเกลือ เข็มและไหมเย็บ เป็นต้น บริษัทจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย :   กรณีบริษัทประกอบกิจการโรงพยาบาลสัตว์เพื่อให้บริการรักษาสัตว์ จึงไม่จัดเป็นสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลซึ่งต้องเป็นการรักษามนุษย์เท่านั้น บริษัทจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร การให้บริการรักษาสัตว์ของบริษัท โดยได้มีการนำยาหรือเคมีภัณฑ์มาใช้ในการรักษาสัตว์ที่ป่วยด้วย ไม่ว่าบริษัทจะได้มีการแยกค่ายาหรือค่าเคมีภัณฑ์ออกจากค่าบริการรักษาสัตว์หรือไม่ก็ตาม รายรับดังกล่าวถือเป็นรายรับจากการให้บริการทั้งจำนวน บริษัทมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการดังกล่าว ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-01-2024